xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ปลื้ม MPI ส.ค.เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 เดือน บ่งชี้ภาคการผลิตเริ่มทยอยฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2563 ขยายตัว 4.81% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ระดับ 60.69 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดและทยอยฟื้นตัว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.43 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.81% และยังเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แต่ยังคงลดลงหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.34% ซึ่งเป็นการลดลงที่เข้าสู่เลขหลักเดียวจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 12.93% สะท้อนให้เห็นว่าทิศทางของภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดและกำลังเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัว

“หากเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ได้ก็เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมกำลังปรับตัวในการค่อยๆ ฟื้นตัวเพื่อกลับไปสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า โดยโควิด-19 ก็ยังพบว่าบางอุตสาหกรรมเติบโตเพิ่มขึ้นมาก เช่น อุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และบางอุตสาหกรรมก็เริ่มฟื้นตัว เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างน้ำตาล เป็นต้น” นายสุริยะกล่าว

ทั้งนี้ ภาครัฐได้เตรียมดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการ คนละครึ่ง เพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งยังได้จัดงาน Job Expo Thailand 2020 เพื่อเป็นช่องทางหางานให้แก่ผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้ผลักดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลให้เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและหันมาใช้เครื่องจักรกลที่ผลิตภายในประเทศแทน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะลดการพึ่งพาจากต่างประเทศให้น้อยลง

 


นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า เดือน ส.ค.อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 60.69 และเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ใกล้เคียงกับสภาวะก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกันกับกำลังซื้อภายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2563 หดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างประเทศยังคงประสบปัญหาในการควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศให้ชะลอตัวลง ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.40% อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.50% และจากผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรเตรียมพร้อมที่จะเพาะปลูกอีกครั้ง เครื่องใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น