ธปท.หว่งเสถียรภาพตลาดแรงงานยังเปราะบาง ประชาชนตกงานสูงถึง 2% คาดทั้งปี 2563 เศรษฐกิจติดลบ 8% ครึ่งปีแรกติดลบ 7% ครึ่งปีหลังติดลบ 8.5% คาดไตรมาส 2 ปี 2564 เศรษฐกิจจะกลับมาเป็นบวกได้
นายดอน นาครทรรพ ผู้ อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือ ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวน้อยลง แต่ยังคงมีบางกลุ่มที่อาจจะมีการหดตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการปรับตัว โดยคาดว่าไตรมาส 2 ของปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเป็นบวกได้ ส่วนภาพรวมทั้งปีเศรษฐกิจน่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้น ติดลบประมาณ 8% จากครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจติดลบ 7% คาดว่าครึ่งปีหลังติดลบ 8.5% สำหรับตัวเลขที่น่าห่วงและมีผลต่อเศรษฐกิจไทย คือ ตัวเลขการตกงานของประชาชน ขณะนี้มีสูงถึง 2% หวังว่าจะได้รับการเยียวยาและแรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐที่ร่วมกับ 5 หน่วยงาน โดย ธปท.มีส่วนร่วมในการผลักดันการจ้างงานกว่า 7.5 แสนคน
เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2563 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามมูลค่าการส่งออกสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้น หลังจากปัจจัยพิเศษวันหยุดยาวในเดือนก่อนหมดลง สำหรับภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง จากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นแต่ยังคงเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิเล็กน้อยจากด้านหนี้สิน
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 8.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำในเดือนนี้ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 13.6% ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่หดตัว 14.3% ตามการส่งออกสินค้าหมวดที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับดีขึ้น สอดคล้องต่อการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีนหลังจากเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องต่อทิศทางการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องต่ออุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวลดลงเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ชะลอลง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 19.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สอดคล้องต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว สอดคล้องต่อปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
แม้ในเดือนนี้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมจะหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ หลังจากปัจจัยพิเศษวันหยุดยาวในเดือนก่อนหมดลง ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนหดตัวน้อยลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการซื้อรถยนต์รุ่นใหม่หลังจากที่เริ่มมีการเปิดตัวในเดือนก่อน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวสูงขึ้น ตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังคงขยายตัวสูง ขณะที่รายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง จากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อย แต่จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิเล็กน้อยจากด้านหนี้สิน ตามการขายสุทธิตราสารทุนไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินของไทย