บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าตามเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่องในหลายกิจกรรมสู่การเป็น “องค์กรคาร์บอนต่ำ” เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตลงตามเป้าหมาย 25% ในปี 2568 เทียบกับปีฐาน 2558 สร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ตลอดจนรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมของมวลมนุษยชาติและโลกใบนี้อย่างยั่งยืน
วันนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จัดงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี 2563 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ และการมอบประกาศนียบัตรและโล่เกียรติยศให้แก่ภาคเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่างๆ เช่น กิจกรรมชดเชยคาร์บอน เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์และฉลากลดโลกร้อน โดยซีพีเอฟเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ร่วมกิจกรรมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
ในงานนี้ ซีพีเอฟได้รับมอบประกาศนียบัตรจาก อบก. จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย ฉลากลดโลกร้อน อาหารไก่เนื้อ 6 รายการ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ผลิตภัณฑ์ซอสพริก และซอสมะเขือเทศ 8 รายการ คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint Organization) แก่ โรงงานอาหารสำเร็จรูป 5 แห่ง รวมทั้ง คาร์บอนนิวทรัลส่วนบุคคล (Carbon Neutral Man) บุคลากรของ CPF และเครือเจริญโภคภัณฑ์จำนวน 36 คน การชดเชยคาร์บอนในงาน Carbon Neutral Event คือ “CPF Run for Charity at Fort Adisorn 2020 ลดโลกร้อน” การชดเชยการปล่อยคาร์บอนส่วนบุคคลไป 108 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า ในปี 2563 และมีหน่วยงานที่ผ่านการรับรองในโครงการ Low Emission Support Scheme (LESS) ทั้งหมด 60 หน่วยงาน โดยมีการปลูกต้นไม้รวม 16,910 ต้น สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 6,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าจากการดำเนินธุรกิจให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อบริษัทฯ และร่วมแก้ไขปัญหาสังคม ตอบสนองต่อนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด และยังดำเนินการควบคู่ไปกับการปกป้องฟื้นฟูป่าชายเลนและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
“การจัดกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังเป็นการการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความรับผิดชอบในการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวันและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายวุฒิชัยกล่าว
ซีพีเอฟ บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2562 แล้ว 15% เทียบกับปีฐานปี 2558 ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้เดิมในปี 2563 และยังเดินหน้าลดต่อเนื่องตามเป้าหมาย 25% ในปี 2568 จากโครงการต่างๆ เช่น ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิต ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็นตลอดห่วงโซ่คุณค่า สนับสนุนการนำทรัพยากรทุกส่วนไปใช้ให้เกิดประโยชน์โดยไม่เหลือทิ้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังคงดำเนินธุรกิจตามทิศทางและเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ปี 2573 สู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านความยั่งยืน คือ การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Waste ลดขยะและของเสียให้เป็นศูนย์ และการมุ่งสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral
นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า การจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์และฉลากลดโลกร้อน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในโครงการ CPF Green Revenue ตอกย้ำว่ารายได้ของบริษัทมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) เพิ่มขึ้นทุกปี จากผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือได้รับรองฉลากสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก
ซีพีเอฟ มุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้ผลิตภัณฑ์อาหารไก่เนื้อของบริษัทฯ 6 รายการ ได้รับฉลากลดโลกร้อน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดการใช้วัตถุดิบและพลังงานได้ 77,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า (ปี 2019) หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1,280,000 ต้น ซึ่งอาหารสัตว์ของซีพีเอฟ นอกจากจะให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการของสัตว์แล้ว ยังคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ซอสพริก และซอสมะเขือเทศยังได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ รวม 8 รายการ และยังเป็นปีแรกที่มีการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล รักษ์โลก ในรูปแบบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ หรือ “Carbon Neutral Event” สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 13 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 220 ต้น เสื้อวิ่งที่ทำมาจากขยะขวดพลาสติกใช้แล้ว จำนวน 22,000 ขวด มาผลิตเป็นเสื้อวิ่ง 2,200 ตัว