ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดหนังสือ 18,000 ล้านบาทเซ่นโควิด-19 ปีนี้ตกฮวบ 40-50% คาดปิดไม่เกิน 12,000 ล้านบาท แม้ยอดขายออนไลน์จะรุ่ง กลุ่มหนังสือประวัติศาสตร์บุคคล-การเมือง คนรุ่นใหม่แห่หาอ่านเพียบ สัญญาณดีสู่การจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ในเดือน ต.คนี้ คาดเงินสะพัด 200 ล้านบาท นายก ส.ผู้จัดพิมพ์ฯ เผยยังมีหวังปีหน้าตลาดกลับมาแตะที่ 15,000 ล้านบาท
นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า เดิมภาพรวมตลาดหนังสือในปีนี้เชื่อว่าจะดีกว่าปีก่อน เพราะในปีที่ผ่านมาเจอการดิสรัปชันอย่างหนักจนทำให้โตต่ำกว่าปี 2561 แต่พอปีนี้มีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ส่งผลให้ร้านหนังสือตามห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการ และให้บริการได้ในบางสถานที่ อย่าง โรงพยาบาล และร้านหนังสือทั่วไป เป็นต้น ทำให้ยอดขายลดลงอย่างมาก แม้ว่าจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่โดยรวมทั้งปีนี้มองว่าตลาดหนังสือน่าจะลดลง 40-50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือน่าจะปิดที่ 12,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญต่อการอ่านหนังสืออยู่ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์โตขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5 เท่า หรือคิดเป็น 5-10% ของ 18,000 ล้านบาท ซึ่งในกลุ่มออนไลน์นี้เติบโตจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังคงมองหาหนังสืออ่าน โดยเฉพาะหนังสือประเภทวรรณกรรม การ์ตูน ความรู้บันเทิง โตเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง แอ็กทิวิตีต่างๆ รวมถึงกลุ่มประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญๆ และประวัติศาสตร์การเมือง ยอดขายโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา
โดยพฤติกรรมการซื้อหนังสือของผู้บริโภคยังคงซื้ออ่านกันอยู่ แต่อยู่ภายใต้ 2 เหตุผลหลัก คือ 1. กลุ่มที่มีกำลังซื้อ และซื้อเพื่อพัฒนาตัวเอง เป็นกลุ่มที่ยังพร้อมจ่าย 2. กลุ่มที่เอนเตอร์เทนเมนต์ตัวเอง อย่างกลุ่มเยาวชน กลุ่มนี้จะซื้อทีละมากๆ ตุนไว้อ่านเมื่อมีเวลา กลุ่มนี้ค่อนข้างกังวลและคิดมากขึ้นในการจ่าย ส่งผลให้งบในการซื้อหนังสือลดลงจากเดิม 30%
ขณะที่ในแง่ของการออกหนังสือใหม่ โดยรวมปีนี้มีน้อยลง แต่ละสำนักพิมพ์จะเลือกหนังสือที่มีกลุ่มคนอ่าน คนสนใจ มีความชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มหนังสือวรรณกรรม และบันเทิง เป็นหลัก ซึ่งหนังสือใหม่กลับมาออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วง พ.ค.-มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา
นางสาวโชนรังสีกล่าวต่อว่า หลังจากการจัดรั้งที่ 48 เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ที่ต้องพลิกเกมจัดในรูปแบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น พบว่านักอ่านให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยมียอดผู้เข้าร่วมกว่า 600,000 คน ความสำเร็จดังกล่าวได้นำมาประสานเป็นไฮบริดอีเวนต์ในการจัดงานหนังสือครั้งใหญ่แห่งปีในงาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 (Book Expo Thailand 2020) จัดพร้อมกันทั้งออนกราวนด์และออนไลน์ ระหว่างวันที่ 30 กันยายน-11 ตุลาคมนี้ ณ ชาลเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และ www.thaibookfair.com โดยมีสำนักพิมพ์เข้าร่วม 746 บูท คาดรายได้สะพัด 200 ล้านบาท โดยช่องทางออนไลน์น่าจะทำรายได้อยู่ที่ 20% ซึ่งมีผู้ร่วมงานทั้ง 2 ช่องทางรวมกันไม่ต่ำกว่า 900,000 คน
“งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ใช้กลยุทธ์การตลาดย้อนกลับ หรือ Reverse Marketing โดยกระตุกความคิดคนให้หันกลับมาสนใจในการอ่านมากยิ่งขึ้น ผ่านคอนเซ็ปต์ Noกองดอง นักอ่านจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการดองหนังสือเป็นพฤติกรรมปกติที่เกิดขึ้น เราจะซื้อหนังสือที่ชอบเอาไว้ก่อน มีเวลาอ่านเมื่อไรค่อยว่ากันทีหลัง แต่แคมเปญของเรานั้น อยากให้คนหันกลับมามองกองหนังสือที่มีอยู่ ชวนอ่านให้จบเพื่อมีโอกาสรับรู้ถึงการถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียน แล้วมาเพิ่มกองดองใหม่กันในงานกับหนังสือเล่มใหม่จากนักเขียนคนโปรดกันต่อไป และกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือเราก็คาดหวังที่จะกระตุ้นให้ได้ใช้เวลาไปกับการอ่านมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้ขยายช่องทางสำหรับการชอปปิ้งเพื่อตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตในความปกติใหม่ผ่านทาง www.thaibookfair.com พร้อมร่วมกับมาร์เกตเพลซอย่าง Lazada Shopee และ Kerry Express ที่เป็นพันธมิตรทางด้านโลจิสติกส์ด้วย”
นอกจากนี้ ภายในยังได้เตรียมเปิดตัวเว็บแอปพลิเคชัน Noกองดอง เพื่อเข้าถึงกลุ่มนักอ่านรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่อยู่กับโลกดิจิทัล โดยการทำงานของเว็บแอปฯ นี้ สามารถเก็บสถิติการอ่านของตัวเองจากการสแกนบาร์โค้ดเพื่อนำเข้าข้อมูลหนังสือ สะสมระยะเวลาของการอ่านได้เช่นเดียวกับการสะสมไมล์ของนักวิ่ง เมื่อถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ก็แชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย หรือจะชาลเลนจ์ต่อๆ กันไป หรือจะแชร์ข้อความโดนใจ รีวิวหนังสือที่ชอบสู่นักอ่านคนอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการส่งเสริมการอ่านได้เป็นอย่างดี
“ภาพรวมตลาดหนังสือกับสถานการณ์โควิด-19 จากนี้มองว่ายังไงผู้บริโภคก็ยังอ่านหนังสือ เพราะตลาดหนังสือได้รับผลกระทบน้อยมากจากสถานการณ์โควิด-19 หรือในปีหน้ามองว่าตลาดหนังสือจะมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีกครั้ง หรือกลับมาที่ 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตในสถานการณ์ที่ไม่มีการระบาดระลอก 2 หรือหากมีแต่อยู่ในภาวะควบคุมได้ ไม่ใช่ล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง ที่จะส่งผลให้ตลาดตกลงต่อเนื่องเพราะกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค” นางสาวโชนรังสีกล่าวสรุป