การตลาด - จับตาสมรภูมิรบใหม่ เชนกาแฟบุกเจาะทำเลใหม่แบบเอ็กซ์คลูซีฟ แสวงหาโอกาสและขยายตลาดและลูกค้า เปิดโมเดลเข้าเป็นพันธมิตรกับไปรษณีย์ และแบงก์ ที่เปิดทางดึงเชนกาแฟเข้ามาร่วมเปิดบริการ เกมนี้จับตา คาเฟ่ อเมซอน และเบลลินี่ (Bellinee’s) ในเครือซีพีให้ดี ศึกนี้เพิ่งเริ่มต้นก็หวือหวาแล้ว
ธุรกิจร้านกาแฟ โดยเฉพาะที่เป็นเชนใหญ่ในเมืองไทย มีการเคลื่อนไหวกันตลอดเวลา และก็มีความน่าสนใจไม่น้อย จากผู้ประกอบการที่งัดกลยุทธ์เข้ามาห้ำหั่นกันอย่างต่อเนื่องทุกครั้ง
ต้องถือว่าการแข่งขันในตลาดร้านกาแฟเมืองไทยมีค่อนข้างสูงและรุนแรง จากทั้งเชนใหญ่ของต่างประเทศ และเชนใหญ่ที่เป็นแบรนด์ไทยด้วยกันเอง เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้มองไปทางไหนก็เห็นเชนร้านกาแฟและที่เป็นร้านเดี่ยวเปิดบริการเต็มทุกหย่อมหญ้า
การแข่งขันในการหาทำเลก็เป็นอีกความท้าทายที่เชนร้านกาแฟต้องเผชิญ เพราะทำเลดีๆ ก็ย่อมที่จะเหลือน้อยลงไปทุกขณะ หรือหากมีค่าเช่าก็ต้องแพงโข หากแบรนด์ไม่แกร่งจริง และฐานลูกค้าไม่เหนียวแน่นต่อแบรนด์พอ ก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปิด แต่ทำเลก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเปิดบริการแน่นอน ตามสูตรของการทำธุรกิจที่เป็นเชิงค้าปลีกแม้แต่ร้านกาแฟก็เช่นกันก็คือ ทำเล ทำเล และทำเล
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวอย่างจริงจังที่น่าจับตามองของผู้ประกอบการเชนกาแฟที่เริ่มบุกในทำเลใหม่ๆ ด้วยการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับเจ้าของทำเลหรือธุรกิจต่างๆ ในทำเลแบบใหม่อย่างน้อย 2 ธุรกิจ คือ ธนาคาร กับที่ทำการไปรษณีย์ โดยมีแบรนด์คาเฟ่ อเมซอน ของ ปตท. กับแบรนด์เบลลินี่ เบค แอนด์ บรู บาย ซีพี ออลล์ (Bellinee"s Bake & Brew By CPAll) ของเครือซีพี ประเดิมเกม
โดยทางคาเฟ่ อเมซอน ร่วมเป็นพันธมิตรในการเปิดร้านกาแฟในธนาคารอย่างน้อยแล้ว 2 รายหลักใหญ่ๆ คือ ธนาคารกสิกรไทย กับธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะที่แบรนด์เบลลินี่ ของเครือซีพี ก็ประเดิมเจรจากับทางไปรษณีย์ไทย ในรายละเอียด
นายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) กล่าวถึงเหตุผลในการที่ไปเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอน ในธนาคารว่า คาเฟ่ อเมซอน ต้องการสร้างโอกาสและการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ยึดติดกับทำเลเดิมๆ ซึ่งทำเลหลักของเราก็คือ ปั๊มน้ำมัน และศูนย์การค้าและชุมชนทั่วไป เราพยายามที่จะหาโอกาสและเสาะหาทำเลใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้าและตอบสนองไลฟ์สไตล์ชีวิตของผู้บริโภคแบบทุกที่ทุกเวลา รวมไปถึงการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ด้วย การเข้าไปเปิดบริการในแบงก์ก็เป็นอีกช่องทางหนี่งที่มีความเป็นไปได้ และสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ดี ขณะนี้เราเริ่มกับ 2 แบงก์ใหญ่ก่อน คือ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของไทย
ในอีกมุมของผู้ที่เป็นเจ้าของสถานที่อย่างไปรษณีย์ไทย โดยนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มองกลยุทธ์นี้ว่าเป็นการสร้างรายได้และความแข็งแกร่งการบริการให้กับไปรษณีย์ไทยอีกทางหนึ่งด้วยท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจขนส่งพัสดุ
อีกทั้งเป็นการปิดจุดอ่อนของไปรษณีย์ส่วนหนึ่งที่สาขาส่วนใหญ่ของไปรษณีย์ไทยจะอยู่นอกศูนย์การค้าหรือที่เป็นสแตนด์อะโลน มักจะไม่ได้เปิดวันเสาร์หรืออาทิตย์ ซึ่งการเปิดร้านกาแฟในที่ทำการไปรษณีย์น่าจะขยายเวลาเปิดปิดบริการได้เพิ่มด้วย หรืออย่างน้อยก็มีบริการบางอย่างมาเปิดรับไว้ที่ร้านกาแฟก็ยังได้
“การที่เรามีร้านกาแฟเปิดบริการของเราเองในพื้นที่ของเรา ก็สามารถที่จะเป็นจุดรับฝากพัสดุของผู้ใช้บริการนอกเวลาทำการได้ หรือแม้แต่การนำตู้ iBox มาตั้งที่ร้านกาแฟให้ผู้ใช้บริการสามารถทำได้เองด้วยซึ่งขณะนี้ตู้ iBox ยังคงทำได้เฉพาะเพียงแค่การนำจ่ายพัสดุให้แก่ผู้รับเท่านั้น และผู้รับจะต้องนำรหัสมาไขรับพัสดุเองจากตัวตู้ ปัจจุบันมีทดลองใช้แล้ว 10 ตู้ มีเป้าหมายขยายเป็น 30,000 ตู้ภายใน 3 ปี (2564-2566) และแน่นอนว่าการเปิดร้านกาแฟก็จะเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งในการวางบริการนี้”
การเปิดร้านกาแฟของไปรษณีย์ไทยเองมีการวางแผนที่จะต่อยอดธุรกิจหรือบริการใหม่ๆ เพิ่มอีกจากร้านกาแฟแน่นอน
ทว่า แม้ทั้งแบงก์กับไปรษณีย์ไทย จะเดินหน้ากลยุทธ์เดียวกันในการดึงร้านกาแฟเข้ามาเป็นแม็กเนตบริการใหม่ๆ แต่รายละเอียดและโมเดลนั้นต่างกัน
กสิกรไทย กับไทยพาณิชย์ ดึงคาเฟ่ อเมซอน เป็นพันธมิตรในรูปแบบของการให้เข้ามาเช่าพื้นที่บริการ เปิดเป็นร้านคาเฟ่ อเมซอน ขนาดย่อมๆ ในแบงก์
ปัจจุบันคาเฟ่ อเมซอนเปิดในกสิกรไทยแล้วหลายแห่ง และล่าสุดก็เริ่มกับแบงก์ไทยพาณิชย์เมื่อเดือนที่แล้ว เปิดในไทยพาณิชย์แล้ว 3 สาขา คือ สยามสแควร์ ซอย 1, สาขาท่าแพ และสาขาตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ โดยทั้งสองแบงก์ถือเป็นแบงก์ขนาดใหญ่และมีสาขาจำนวนมากทั่วประเทศทั้งสองแบงก์ และจะมีการเจรจาขยายความร่วมมือกับธนาคารอื่นๆ อีกที่เหมาะสม
นายสุชาติย้ำว่า การเปิดคาเฟ่ อเมซอน ในแบงก์ อาจจะไม่สามารถทำได้ทุกสาขาเพราะต้องขึ้นอยู่กับทำเลและขนาดของพื้นที่สาขาแบงก์นั้นด้วย เพราะจะต้องมีพื้นที่เพียงพอที่เปิดได้เฉลี่ยไม่เกิน 30 ตารางเมตร จากปกติร้านคาเฟ่ อเมซอน ที่เราเปิดมีตั้งแต่ประมาณ 20-300 กว่าตารางเมตร และที่สำคัญแบงก์ก็ต้องเห็นชอบด้วยว่าจะเลือกทำเลใด แต่คาดว่าภายในสิ้นปี 2563 นี้จะมีร้านคาเฟ่ อเมซอน เปิดในธนาคารได้ประมาณ 10 กว่าสาขา ซึ่งในช่วงแรกนี้ คาเฟ่ อเมซอน จะเป็นผู้ลงทุนเองก่อน หากประสบความสำเร็จอย่างดีก็จะเปิดทางให้แฟรนไชส์ดำเนินการ
“ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของร้านกาแฟด้วยเช่นกัน โดยนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถซื้อเครื่องดื่ม และทำธุรกรรมทางการเงินได้ในที่เดียวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์ คาเฟ่ อเมซอน กับลูกค้า ทำให้ลูกค้ามี Engagement กับแบรนด์มากขึ้น โดยไม่เพียงแต่สามารถซื้อเพียงเครื่องดื่มและของว่าง หากแต่ยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน หรือนั่งทำงานที่ SCB Business Center Co-Working Space ได้อีกด้วย” นายสุชาติกล่าว
ขณะนี้เรามีสาขาประมาณ 3,000 กว่าสาขา แบ่งเป็นสาขาแฟรนไชส์ประมาณ 80% และที่เหลือ 20% เป็นสาขาของบริษัทฯ กระจายในศูนย์การค้า ปั๊มน้ำมัน พลาซา คอมมูนิตี้มอลล์ อาคารสำนักงาน ชุมชนทั่วไป หรือแม้แต่ตึกแถว
น.ส.อรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เราเห็นภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มี New Normal เกิดขึ้น เราเห็นการเปลี่ยนผ่านของลูกค้าที่หันมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกรรมการเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง
ธนาคารจึงมีแนวคิดในการนำพื้นที่สาขามาพัฒนาและต่อยอดให้เป็นมากกว่าพื้นที่ในการให้บริการทางการเงิน โดยได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ที่มีความแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน” ทั่วประเทศ มาร่วมกันสร้างระบบนิเวศด้านไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Ecosystem) นำเอาแกนของไลฟ์สไตล์มาช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและองค์กร (Customer Engagement) ผ่านการเปิดให้บริการ “คาเฟ่ อเมซอน” ในสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อสร้างประสบการณ์การมาใช้บริการที่สาขาธนาคารในรูปแบบใหม่ โดยเริ่มที่ SCB Business Center สาขาสยามสแควร์ ซอย 1 และที่สาขาท่าแพ กับสาขาตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนขยายสู่พื้นที่อื่นต่อไป
ส่วนโมเดลของไปรษณีย์ไทยนั้น จะเปิดเป็นแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า โพสต์ คัพ (Post Cup) คือ การที่ไปรษณีย์ไทยจะเจรจากับผู้ประกอบการร้านกาแฟ ซึ่งขณะนี้มี 2 แบรนด์แล้ว คือ เบลลินี่ ของเครือซีพี และอีกแบรนด์ที่ยังไม่เปิดเผย เข้ามาเป็นพันธมิตรแบบ “ร่วมลงทุน” พัฒนาร้านกาแฟให้ ไม่เพียงแค่การเข้ามาเช่าพื้นที่แล้วเปิดบริการแบรนด์ของตัวเอง โดยจะลงระบบการบริหารจัดการ สูตรกาแฟและเบเกอรีของพันธมิตร เพราะโมเดลนี้มีโอกาสในการสร้างรายได้ส่วนหนึ่งให้กับแบงก์
เช่นเดียวกับของคาเฟ่ อเมซอน ที่ไปรษณีย์ไทย ไม่สามารถจะเปิดร้านโพสต์คัพได้ทุกที่ทำการ เพราะจะติดขัดเรื่องพื้นที่ และความเหมาะสมรวมทั้งทำเลด้วย แต่คงจะเปิดได้ต้องเป็นสาขาขนาด M และ L ที่ยังจะพอจัดสรรพื้นที่เหลือให้บริการได้ และต้องร่วมกับเอกชนคัดเลือกสาขาที่เหมาะกับการเปิดร้านกาแฟด้วย
สาเหตุที่มองไปที่แบรนด์เบลลินี่ก่อน เป็นเพราะนายก่อกิจมองว่าตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาในรายละเอียด และทางแบรนด์นี้ก็มีความสนใจด้วยเช่นกัน แต่ที่เป็นแบรนด์นี้เพราะเป็นร้านที่มีความลงตัว มีบริการทั้งเครื่องดื่ม กาแฟ และมีเบเกอรีที่ทำสดใหม่ อย่างไรก็ตาม หากภายในเดือนตุลาคม 2563 นี้การเจรจากับแบรนด์เบลลินี่ไม่สำเร็จก็คงต้องเปิดทางหาพันธมิตรรายใหม่แทนต่อไป
การเคลื่อนทัพเช่นนี้จึงน่าจับตามองทุกฝ่ายอย่างยิ่งว่า ทั้งแบงก์ ทั้งไปรษณีย์ไทย และทั้งคาเฟ่ อเมซอน รวมทั้งแบรดน์อื่นจะประสบความสำเร็จมากน้อยอย่างไร เพราะยังมีอีกหลายคอฟฟี่เชนที่จ่อคิวจะรุกเกมนี้เหมือนกัน