บิ๊กซี จับมือ มทร.กรุงเทพ เปิด “มินิบิ๊กซี” สาขาต้นแบบชูด้านประหยัดพลังงานร่วมสร้างประสบการณ์วิชาชีพให้นักศึกษา พยุงผู้ประกอบการไทยกว่า 100 ชุมชน
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยว่า “บิ๊กซีเดินหน้าเปิด “มินิบิ๊กซี” สาขามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เขตสาทร สาขาที่ 1,117 ในรูปแบบร้านสะดวกซื้อมินิบิ๊กซี โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมด้านการสร้างประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษากลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติงานจริงในร้านมินิบิ๊กซีและร้านกาแฟวาวี คือ Work - Integrated Learning (WIL) เน้นการเรียนในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการทำงานในสถานประกอบการจริง เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการที่ได้จากในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ในการฝึกงานจริง อันเป็นประโยชน์ต่อแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคต ช่วยสร้างอาชีพ รายได้เสริมระหว่างเรียน ทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบิ๊กซีกับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น”
“สำหรับมินิบิ๊กซี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ถนนนางลิ้นจี่ เขตสาทร ภายใต้แนวคิด “สะดวก ใกล้บ้านคุณ” ชูเรื่องการบริการและนวัตกรรมการประหยัดงานอย่างครบวงจร เช่น ออกแบบระบบตู้แช่ให้ประหยัดพลังงาน ใช้น้ำยาทำความเย็นประหยัดพลังงาน พร้อมรักษาคุณภาพของสินค้าอาหารสด ระบบไฟส่องสว่างในร้าน ระบบเครื่องปรับอากาศที่มีระบบวิเคราะห์และบริหารจัดการอุณหภูมิในร้านแบบอัตโนมัติให้มีความเย็นทั่วถึง และประหยัดพลังงาน รวมไปถึงระบบการวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินเลือกจับจ่ายสินค้าของลูกค้า เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ไปปรับปรุงและพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคของมินิบิ๊กซีในอนาคต” นายอัศวินกล่าวเสริม
“ในขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมพัฒนานักศึกษาเป็นโมเดลด้านการวิจัย สร้างนวัตกรรมและเกิดการต่อยอดการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักศึกษานำไปพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ เช่น แพกเกจจิ้ง แบรนดิ้ง และทำให้สินค้ามีมาตรฐานการรองรับสู่การจัดจำหน่าย เช่น อย. มอก. เป็นต้น โดยทางบริษัทจะสนับสนุนในด้านการเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของทางมหาวิทยาลัยที่พัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการและชุมชน เข้ามาจัดจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อมินิบิ๊กซี ซึ่งที่ผ่านมาบิ๊กซีได้ให้ความสำคัญต่อสินค้าท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัด เพื่อร่วมเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรท้องถิ่นและผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง”
“มินิบิ๊กซี สาขามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เขตสาทร จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป จัดจำหน่ายสินค้าสะดวกซื้อกว่า 5,566 รายการ ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง เบเกอรี เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ของใช้ภายในบ้าน เครื่องเขียน รวมถึงร้านกาแฟวาวี ซึ่งเป็นกาแฟสดไทยออร์แกนิก (WAWEE COFFEE) และจุดบริการ Co-Working Space พร้อมบริการเสริม เช่น บริการจ่ายบิล เติมเงินค่าโทรศัพท์ ฝาก-ถอนเงิน และบริการส่งพัสดุ แต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับมินิบิ๊กซีเมื่อเทียบกับร้านสะดวกซื้อทั่วไป คือ การมีสินค้าที่หลากหลาย พร้อมโปรโมชันราคาคุ้มค่า เพราะมุ่งหวังให้เป็นที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้ใช้บริการ” นายอัศวินกล่าวสรุป
ด้าน นายสมพร ปิยะพันธ์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนกำลังคนสู่การพัฒนาประเทศ ซึ่งนอกจากภารกิจด้านการจัดการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยยังมีนโยบายในการช่วยเหลือชุมชน โดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากอาจารย์และนักศึกษา ทั้งด้านกลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนด้านบริหารจัดการ มาบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์จากชุมชนมีอัตลักษณ์และกระจายไปทั่วถึง เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก มหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดเสริมความแข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ควบคู่กับการขาย จึงเกิดความร่วมมือกับบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เปิด มินิบิ๊กซี ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มหาวิทยาลัยได้ลงพื้นที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน ขับเคลื่อน Value Chain ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า ช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและอยู่รอดอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ยังมุ่งหวังให้มินิบิ๊กซีและร้านกาแฟวาวี ซึ่งเป็นกาแฟสดไทยออร์แกนิกเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางวิชาชีพบนสถานการณ์จริงควบคู่กันกับการเรียนการสอน”
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ร่วมมือกับ 4 คณะ ประกอบด้วย คณะบริหารธุรกิจ
คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และ 1 สถาบันวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศมากกว่า 100 ชุมชน โดยมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับการบ่มเพาะธุรกิจและพัฒนาธุรกิจจนมีชื่อเสียง เช่น น้ำมะนาวสดพร้อมดื่ม UHT ยี่ห้อ “Lime Jeed” (ลามจี๊ด) ซึ่งเป็นสินค้าได้รับสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” และสินค้าไส้กรอกเยอรมัน UTK ฯลฯ ถือเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยจะได้ส่งเสริมสินค้าชุมชนและยกระดับสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ให้มีพื้นที่ในการกระจายสินค้าได้มากขึ้น