xs
xsm
sm
md
lg

ขบ.เปิดจ่ายภาษีรถผ่านแอปฯ-ตู้คีออสก์ “ศักดิ์สยาม” ยันผิดกฎจราจร “ตัดแต้ม” ปลายปีมีแอปฯ แท็กซี่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการขนส่งฯ เปิดรับชำระภาษีผ่านตู้คีออสก์ และแอปฯ “DLT Vehicle Tax” เพิ่มทางเลือกสะดวก รวดเร็ว “ศักดิ์สยาม” ยันไม่เรียกคืนใบขับขี่ ชูทำผิดกฎ “ตัดแต้ม-พักใช้” ตามหลักสากล เผยอุบัติเหตุ 70% เกิดจากเมาแล้วขับ ไม่เกี่ยวกับอายุ ขีดเส้นปีนี้เปิดใช้แอปฯ แท็กซี่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมการขนส่งทางบก ครบรอบ 79 ปี พร้อมกับเปิดโครงการระบบตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) และ “DLT Vehicle Tax” แอปพลิเคชันชำระภาษีรถผ่านมือถือ “เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเสียภาษีรถแบบ New Normal : New Experience for DLT Vehicle Tax” ว่า กรมการขนส่งฯ ได้พยายามนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวก และภายในสิ้นปี 2563 กรมการขนส่งฯ จะเชื่อมข้อมูลกับสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) เพื่อให้สามารถต่อใบอนุญาตให้รถทุกคัน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมการขนส่งฯทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูลขั้นตอนวิธีการต่างๆ ให้เข้าใจ เพราะยังเป็นเรื่องใหม่ที่นำมาใช้สำหรับคนไทย

สำหรับในอนาคตจะมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่จะมีการต่อเชื่อมระบบกันนั้น เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะเชื่อมข้อมูลในเรื่องการออกใบสั่งกรณีทำผิดกฎจราจร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรมทางหลวง เรื่องการเก็บค่าผ่านทางด่วนและมอเตอร์เวย์ ซึ่งเน้นในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว และไม่มีเรื่องที่ต้องกังวล หากปฏิบัติตามระเบียบ กฎจราจร

@ ไม่เรียกคืนใบขับขี่-ชูทำผิดกฎ ตัดแต้ม พักใช้ตามหลักสากล

สำหรับเรื่องใบขับขี่ตลอดชีพนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ข้อมูลจากกรมการขนส่งฯ มีนโยบายในเรื่องการเปลี่ยนใบขับขี่แบบกระดาษเป็นใบขับขี่แบบดิจิทัล ส่วนเรื่องการตรวจสอบความสามารถในการขับขี่นั้น จะอยู่ในเรื่องการตัดคะแนน ซึ่งถือเป็นหลักสากล ที่พิสูจน์ว่าขับขี่ได้ถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นอันตรายหรือไม่ ส่วนเรื่องอายุผู้ถือใบขับขี่นั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้จำกัดเรื่องเพศ อายุ ดังนั้นเชื่อว่าการตัดคะแนนจึงเหมาะสมกว่า

หากดูสถิติการเกิดอุบัติเหตุนั้น เรื่องอายุผู้ถือใบขับขี่ไม่ได้เป็นนัยสำคัญที่ชี้ว่าผู้สูงอายุจะขับขี่ไม่ปลอดภัย เพราะข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สถิติการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า 70% เกิดจากความพร้อมของคน เช่น ดื่มสุรา หรืออ่อนเพลีย ไม่พร้อมในการขับรถ อีก 17% เป็นความพร้อมของยานพาหนะ และอีก 13% เป็นเรื่องการตัดหน้ากระชั้นชิด ซึ่งกรมการขนส่งฯ จะนำมาตรฐานของประเทศต่างๆ มาใช้ในการออกใบขับขี่ ซี่งมีหลักเกณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้น ว่าผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง เช่น ทดสอบข้อเขียน ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ทดสอบภาคสนาม

เมื่อได้ใบขับขี่ไปแล้ว จะถูกควบคุมด้วยมาตรการ โดยยึดตามระเบียบกฎหมาย หากทำผิดก็จะถูกตัดคะแนน และหากถูกตัดคะแนนครบที่กำหนดจะต้องถูกพักใช้ใบอนุญาต 1 ปี และจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบใหม่เพื่อรับใบขับขี่ใหม่ และหากถูกพักใช้ใบขับขี่ 2 ครั้ง จะหมดสิทธิ์ในการได้รับใบขับขี่

“เรื่องนี้ขอชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ตรงกันว่า เป็นเรื่องที่ต้องการให้ผู้ถือใบขับขี่รุ่นเก่าแบบกระดาษมาเปลี่ยนเป็นใบขับขี่แบบดิจิทัลมากกว่า ไม่มีประเด็นที่ต้องมาสอบใหม่แต่อย่างใด”

สำหรับการแก้ปัญหาแกร็บผิดกฎหมาย เป็นนโยบายการบริหารจัดการรถรับจ้างสาธารณะโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างขับเคลื่อน ซึ่งภายในปีนี้จะต้องเห็นเป็นรูปธรรม ส่วนนโยบายความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.นั้นผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) แล้ว และจะมีการทดลองนำร่องในถนนสายเอเชีย ทางหลวงหมายเลข 32 ระยะทาง 50 กม. และขยายต่อไป ซึ่งเรื่องความเร็วรถ 120 กม./ชม. คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยอย่างมาก ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการยางพาราหุ้มแบริเออร์ (Rubber Fender Barrier : RFB) ที่สามารถช่วยเกษตรกรชาวสวนยางได้อีกด้วย ซึ่งเชิญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคิกออฟในวันที่ 25 ส.ค. ที่บริเวณเขาคิชฌกูฏ ซึ่งจะมีการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ระยอง เป็นเรื่องความสะดวก ปลอดภัย และยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอีกด้วย

@นำร่องคีออสก์  10 ตู้ จ่ายภาษีรถอายุไม่เกิน 7 ปีก่อน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า โครงการระบบตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) นั้นได้เริ่มทำต้นแบบ 10 ตู้ นำไปตั้งไว้ที่สำนักงานเขตกรุงเทพฯ พื้นที่ 1-5 ที่กระทรวงคมนาคม ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน และที่ศูนย์ราชการ ซึ่งเมื่อใส่เลขบัตรประชาชนเจ้าของรถ และทะเบียนรถ สามารถชำระภาษี โดยตัดผ่านบัญชีได้ทุกธนาคาร จากนั้นให้ใส่เลขที่กรมธรรม์ ซึ่งต่อไปจะมีการปรับให้ใส่เลขทะเบียนรถและวันหมดอายุกรมธรรม์แทนได้ เพื่อความสะดวก และจะพรินต์เครื่องหมายการเสียภาษีออกจากตู้ได้

ส่วนการชำระภาษีรถผ่านมือถือ โดยโหลดแอปพลิเคชัน“DLT Vehicle Tax” สามารถใส่เลขบัตรประชาชนเจ้าของรถ และเลขทะเบียนรถ ระบบจะคำนวณอัตราภาษี สามารถชำระภาษีผ่านมือถือได้และตามด้วยการใส่เลขกรมธรรม์ต่อไป โดยมีสิทธิ์เลือกที่จะไปพรินต์เครื่องหมายการเสียภาษีออกจากตู้ได้ หรือให้จัดส่งทางไปรษณีย์ไปที่บ้านไม่เกิน 3 วัน โดยมีค่าจัดส่ง 32 บาท

ทั้งนี้ จะเริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยกำหนดต้องเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ที่ไม่มีภาษีค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 1 ปี ไม่ถูกอายัดทะเบียน ไม่ใช่รถที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซ

และภายในสิ้นปี 2563 จะเชื่อมโยงระบบจาก ตรอ. 2,500 แห่งทั่วประเทศ จะขยายการชำระภาษีผ่าน ตู้ Kiosk และแอปฯ “DLT Vehicle Tax” ได้ โดยเมื่อตรวจสภาพรถผ่านแล้ว ตรอ.จะส่งข้อมูลเชื่อมเข้าระบบ สามารถใช้ในการชำระภาษีได้ผ่าน Kiosk และแอปพลิเคชัน “DLT Vehicle Tax” คาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการผ่าน 2 ระบบจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันมีรถยนต์ 10 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 20 ล้านคัน

ขณะที่ปัจจุบันกรมการขนส่งฯ มีบริการชำระภาษีหลายช่องทาง ได้แก่ Drive Thru for Tax ขับรถผ่านช่องทางรับชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถ ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เคาน์เตอร์เซอร์วิส ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ทำการไปรษณีย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ทั้งยังมีบริการผ่านระบบออนไลน์ลดการสัมผัสติดต่อ เช่น ผ่านเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th แอปพลิเคชัน Truemoney Wallet mPAY อีกด้วย

สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเรียกบริการรถรับจ้างสาธารณะในรูปแบบเดียวกับ แกร็บ นั้น เบื้องต้นจะให้บริการในการเรียกบริการรถแท็กซี่ผ่านแอปฯ ก่อน ซึ่งจะเป็นระบบกลางเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ ขณะที่จะทำให้รถแท็กซี่มีต้นทุนลดลงจากเดิมที่เป็น Taxi OK ที่จะต้องติด GPS และค่าแอร์ไทม์ต่างๆ โดยจะเริ่มได้ภายในปีนี้ จะเป็นการทำให้แท็กซี่ในระบบเข้มแข็งก่อน

ส่วนการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาวิ่งให้บริการเป็นรถรับจ้างสาธารณะควบคู่กันนั้น กฤษฎีกาตีความแล้วว่า จะต้องแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522) ซึ่งจะใช้เวลานาน ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด โดยอาจจะต้องกำหนดประเภทรถที่สามารถนำมาวิ่งให้บริการสาธารณะขึ้นมาเพิ่มอีกประเภทหนึ่ง



นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก


กำลังโหลดความคิดเห็น