GPSC ออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัท ครั้งที่ 1/2563 มูลค่ารวมไม่เกิน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้อายุ 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ จองซื้อหุ้นกู้ระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค.นี้
รายงานข่าวแจ้งว่า บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัท ครั้งที่ 1/2563 มูลค่ารวมไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ระยะเวลาจองซื้อหุ้นกู้ระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค. 2563
แบ่งเป็นหุ้นกู้ชุดที่ 1 มูลค่าเสนอขายไม่เกิน 1,500 ล้านบาท อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568 มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.11 ต่อปี
หุ้นกู้ชุดที่ 2 มูลค่าเสนอขายไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อายุ 10 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2573 มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.94 ต่อปี
หุ้นกู้ชุดที่ 3 มูลค่าเสนอขายไม่เกิน 2,500 ล้านบาท อายุ 15 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2578 มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.24 ต่อปี
ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้สำหรับการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ส่วนผู้จัดการการจัดหน่ายหุ้นกู้สำหรับการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ไปเพื่อการลงทุน ชำระคืนหนี้เดิม (Refinance) ในบางส่วนหรือทั้งหมดของโครงการใหม่หรือโครงการที่มีอยู่เดิมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัทและบริษัทในเครือ ได้แก่ โครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ โรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์, โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานน้ำชนิดฝายน้ำล้น ที่มีกำลังการผลิตรวมไม่เกิน 25 เมกะวัตต์ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าแบบพลังงานความร้อนร่วมและโครงการระบบกักเก็บพลังงาน และการป้องกันและควบคุมมลพิษ รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวกับการพัฒนา การดำเนินการ การบำรุงรักษา และการพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดพลังงานจากชีวมวล และขยะมูลฝอย ตลอดจนการลงทุนเกี่ยวกับการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน รวมถึงโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร Waste to Energy (WTE) ที่ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ โครงการผลิตเชื้อเพลิงขยะจากขยะมูลฝอยชุมชน (RDF) และโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF