xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ สั่งศึกษาวิจัยเส้นใยกัญชงหนุนปลดล็อกกฎหมายเอื้อ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรมดึงผู้ประกอบการไทยแชร์ตลาดเส้นใยกัญชงหลังเติบโตต่อเนื่อง เร่งเครื่องวิจัยเส้นใยกัญชง ปลดล็อกกฎหมายหวังปูทางสู่ผลิตภัณฑ์จำหน่ายในประเทศ

นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยกัญชงได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภค ภาพรวมของตลาดโลกในอุตสาหกรรมกัญชงมีแนวโน้มเติบโต โดยในปี 2563 มีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 124.6 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าการตลาดจะมีโอกาสเติบโตถึง 26.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 824.6 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 34% จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยในการเข้าถึงส่วนแบ่งทางการตลาดนี้

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผ่านการดำเนินการของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ วิจัยกระบวนการผลิตเส้นใยที่มีคุณภาพ ลดการนำเข้า รวมทั้งขยายผลในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชงอย่างเป็นระบบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ

นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รวบรวมข้อมูลการใช้ประโยชน์และแนวทางการพัฒนาเส้นใยกัญชง นำเสนอคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชงอย่างเป็นระบบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในมิติของอุตสาหกรรมสำหรับประกอบการพิจารณาของคณะกรรมมาธิการวิสามัญฯ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้กำหนดแนวทางสำหรับการพัฒนา ผ่านการรวบรวมข้อมูลคุณสมบัติพิเศษของกัญชงแต่ละสายพันธุ์ รวมทั้งศึกษาความแตกต่างของการปลูกในแต่ละพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นใยกัญชงไทย

นอกจากนี้ จะผลักดันและส่งเสริมพืชกัญชงในภาคอุตสาหกรรมผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเครื่องจักรและเครื่องมือ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดของอเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยองค์ความรู้เทคโนโลยีในการผลิตและการแปรรูป การส่งเสริมด้านการตลาด รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างความเชื่อมั่นและช่วยสนับสนุนเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการผ่านการจัดทำมาตรฐานเส้นใยกัญชงที่มีคุณภาพ เพื่อการยกระดับให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคจากนานาชาติต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น