ด้วยคุณสมบัติของเนื้อผ้าที่มีความนุ่มสบายเมื่อสัมผัส ประกอบกับการระบายอากาศได้ดี จึงทำให้ “ผ้าฝ้าย” เป็นผ้าอีกหนึ่งชนิด ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในการนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อ กางเกง กระเป๋า หมวก แต่น้อยคนจะรู้ว่าก่อนผ้าฝ้ายจะมาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทออันสวยงามนั้น ต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดผ้าหลากหลายขั้นตอน เนื่องจากในปัจจุบันผ้าฝ้ายส่วนใหญ่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และมีการใช้สารเคมีในบางขั้นตอนการผลิต จึงทำให้ขั้นตอนในการทำความสะอาดผ้าฝ้าย ต้องใช้น้ำและใช้ผงซักฟอกในปริมาณที่มาก ทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งผู้ผลิตสิ่งทอจากผ้าฝ้ายยังต้องสัมผัสกับสารเคมีอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยการเล็งเห็นถึงปัญหาจากต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ผลิตสิ่งทอจากผ้าฝ้าย และปัญหาสารเคมีที่อาจส่งผลต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ จึงได้คิดค้น “เอนอีซ” (EnZease) เอนไซม์สำหรับใช้ในการทำความสะอาดผ้าฝ้าย ที่ช่วยลดขั้นตอนในการทำความสะอาด และลดสารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนการทำความสะอาด
ดร.ธิดารัตน์ เล่าถึงความเป็นมาว่า ก่อนที่จะได้ผ้าฝ้ายมาทอเป็นผ้าผืนงาม หรือตัดชุดสวยนั้น ผ้าที่ใช้ต้องผ่านหลากหลายขั้นตอนทำความสะอาด เพื่อกำจัดแป้ง แว๊กซ์และสิ่งสกปรกในผ้า อาทิ การนำผ้าฝ้ายไปต้มในน้ำร้อนที่อุณหภูมิสูงซ้ำไปซ้ำมา การนำผ้าฝ้ายไปแช่ในน้ำผสมผงซักฟอกเป็นเวลานานๆ หรือในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้องทำความสะอาดผ้าในปริมาณมากๆ ก็จะมีการใช้ สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และโซดาไฟ เพื่อขจัดแป้งและแว๊กซ์ออกจากเส้นใยผ้า ก่อนที่จะนำมาผลิตเป็นสิ่งทอ ซึ่งในการทำความสะอาดยังใช้น้ำและเชื้อเพลิงในการต้มน้ำในปริมาณที่มาก หากเป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพด้านสิ่งทอแล้ว ก็ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองมาก และยังต้องสัมผัสกับสารเคมีจากการล้างผ้าอีกด้วย
เพื่อที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตสิ่งทอจากผ้าฝ้าย จึงได้ทำการวิจัยจนกระทั่งได้พัฒนาเทคโนโลยีเอนไซม์“เอนอีซ” หรือเรียกอีกชื่อว่าเอนไซม์ทูอินวัน เพราะสามารถขจัดแป้ง แว๊กซ์ และทำความสะอาดสิ่งสกปรกในผ้าฝ้ายไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ต้องทำความสะอาดหลายขั้นตอนด้วยวิธีเดิมๆ
เอนไซม์เอนอีชได้มีการนำมาใช้งานจริง โดยกลุ่มวิสาหกิจสิ่งทอ “ร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น” ที่ ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “หม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ” ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ได้ทดลองใช้และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากมีวิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยาก แค่ผสมเอนไซม์เอนอีชกับน้ำที่จะใช้ทำความสะอาดผ้าฝ้าย จากนั้นนำผ้ามาแช่ทิ้งไว้ ประมาณ 9 – 10 ชั่วโมง ซึ่งส่วนมากชาวบ้านจะแช่ไว้ข้ามคืน เอนไซม์เอนอีซจะทำปฏิกิริยาแบบจำเพาะเจาะจงขจัดเพียงแค่แป้ง แว๊กซ์และสิ่งสกปรก ต่างจากสารเคมีทำความสะอาดอื่นๆ ที่ทำลายเส้นใยผ้า ผลที่ได้คือผ้าสะอาดโดยไม่ต้องนำไปต้มในน้ำร้อนซ้ำไปซ้ำมา หรือล้างในน้ำผสมผงซักฟอกด้วยวิธีเดิมๆ จึงช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างมาก
ในเรื่องขั้นตอนการวิจัยเพื่อให้ได้จุรินทรีย์ที่ผลิตเอนไซม์ที่สามารถย่อยแป้ง แว๊กซ์ และทำความสะอาดผ้าฝ้ายได้ในเวลาเดียวกัน เพราะจุรินทรีย์บางชนิดผลิตเอนไซม์ย่อยแป้งแต่ไม่ย่อยแว๊กซ์ บางชนิดสามารถทำความสะอาดผ้าได้ตามที่ต้องการ แต่ผลิตเอนไซม์น้อย ทางทีมวิจัยจึงได้มีการออกพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างเชื้อจุรินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ในธรรมชาติ เช่น ตามลำคลองหรือบ่อบำบัดใกล้กับการโรงงานผลิตแป้ง เพื่อนำมาเพาะเลี้ยง วิจัยและทดสอบว่าจุรินทรีย์ที่ผลิตเอนไซม์ตามที่ต้องการได้ จนได้พบเชื้อจุรินทรีย์ที่สามารถผลิตเอนไซม์ตามที่ต้องการและผลิตในปริมาณมาก และได้ตั้งชื่อว่า “เอนอีซ” และได้กลายมาเป็นเอ็นไซม์สัญชาติไทย ที่ได้นำไปใช้ทดแทนการใช้สารเคมีในกระบวนการทำความสะอาดผ้าฝ้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
และด้วย “เอมไซม์เอนอีซ” เป็นงานวิจัยที่ที่คำนึงถึงต่อการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยในเรื่องสุขภาพของผู้ผลิตสิ่งทอ จึงทำให้ ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ หัวหน้าทีมวิจัยเอนไซม์เอนอีซ ได้กลายเป็น 1 ใน 5 นักวิจัยผู้หญิงที่ได้รับทุนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2562 (L’OREAL For Women in Science 2019) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life sciences) อีกด้วย
สนใจติดต่อ
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
โทร.02 – 564 - 6700
****************************************************************************************************
** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager