กพท.ออกประกาศแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศ มีตั้งแต่ 17 ก.ค.เป็นต้นไป กำหนด 18 ข้อให้สายการบินคัดกรองเชื้อก่อนออกตั๋วโดยสาร พบมีไข้ ไม่สวมหน้ากาก ห้ามบิน งดบริการอาหารกรณีบินไม่เกิน 120 นาที ส่วนสนามบิน วาง 14 มาตรการคัดกรองคนและสัมภาระ
รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ได้ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศและผู้ดำเนินการสนามบินมีแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการให้บริการการบินในเส้นทางระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสอดคล้องกับกฎระเบียบของไทยที่มีผลใช้บังคับอยู่
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จึงออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังต่อไปนี้
1. ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานและผู้ดำเนินการสนามบิน ประกาศ ณ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2563 และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน 2. แนวปฏิบัติตามประกาศนี้ให้ใช้บังคับแก่การปฏิบัติการบินในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ (International Flights) และสนามบินที่ให้บริการแก่การบินระหว่างประเทศ 3. ประเภทของอากาศยานขนส่งบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินเข้าออกราชอาณาจักรไทยให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย
4. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศยึดถือแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 7/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) สั่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และมาตรการ แนวทาง หรือแนวปฏิบัติอย่างอื่นที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือรัฐบาลกำหนด
5. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ ดังนี้
(1) แจ้งให้ผู้โดยสารทราบถึงมาตรการทางสาธารณสุขของทางการไทยในการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งมาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร มาตรการเมื่อเดินทางถึง/ระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร และมาตรการก่อนเดินทางออกจากราชอาณาจักร เช่น การกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ (State Quarantine) เป็นเวลา 14 วัน เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว การลงแอปพลิเคชั่นติดตามอาการและการเดินทาง เข้าสถานที่ต่าง ๆ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR เป็นต้น
(2) ในกรณีที่ปรากฏว่าท่าอากาศยานต้นทางไม่มีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารและบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศทำการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสาร โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact infrared thermometer) ก่อนออกบัตรโดยสาร (Boarding Pass) และสังเกตอาการโดยทั่วไป หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที หากการวินิจฉัยเห็นว่ามีความเสี่ยง ให้ระงับการออกบัตรโดยสาร (Boarding Pass) แก่ผู้โดยสารนั้น
(3) ก่อนออกบัตรโดยสาร ให้ตรวจสอบเอกสารสำคัญของผู้โดยสารตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 7/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) สั่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และมาตรการอื่นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระบุเงื่อนไขของเอกสารจำเป็นสำหรับบุคคลประเภทต่างๆ ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้ระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น
(4) ในกรณีที่ให้บริการเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ให้กำหนดให้ผู้เช่า (Charterer) วางมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่จะนำขึ้นเครื่อง โดยการบริการระหว่างประเทศที่มีสถานการณ์การระบาดของโรคสูง ให้กำหนดให้ผู้โดยสารแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ให้ตรวจสอบก่อนออกบัตรโดยสาร (5) ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อออกบัตรโดยสาร ถ้าพบว่าผู้โดยสารไม่มีหน้ากากปิดจมูกและปาก (Mask) หรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก (Face Covering) และไม่สามารถจัดหามาแสดงได้ก่อนการเดินทาง ให้ระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น (6) กำหนดให้ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก ตลอดเวลาที่อยู่ในอากาศยาน ยกเว้นในสถานการณ์จำเป็นหรือฉุกเฉิน
(7) กำหนดให้มีมาตรการและวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาระยะห่างของผู้โดยสารตลอดระยะเวลาเดินทาง โดยรวมถึงการลำเลียงผู้โดยสารเพื่อขึ้นและลงจากอากาศยาน จำกัดการรวมกลุ่มในขณะจัดเก็บหรือหยิบสัมภาระในที่เก็บของเหนือศีรษะ การย้ายที่นั่งโดยไม่จำเป็น การเข้าแถวรอใช้ห้องน้ำในห้องโดยสาร รวมถึงมีวิธีการปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่ามีการรักษาระยะห่างที่เหมาะสมสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ (8) จัดให้มีแอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70% ใช้สำหรับล้างมือไว้ให้บริการอย่างเพียงพอให้กับผู้โดยสารและพนักงานของผู้ดำเนินการเดินอากาศ
(9) กำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment; PPE) ดังนี้ (ก) นักบินให้สวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก (ข) ลูกเรือให้สวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก และถุงมือยาง (Disposable Medical Rubber Gloves) ตลอดระยะเวลาปฏิบัติการบิน โดยผู้ดำเนินการเดินอากาศอาจพิจารณาจัดหาอุปกรณ์อื่นที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมได้ เช่น แว่นตา (Goggles) หรือชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) เป็นต้น
(10) งดการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแผ่นพับโฆษณาต่าง ๆ สำหรับผู้โดยสาร ยกเว้น เอกสารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเท่านั้น รวมทั้งงดการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและสินค้าปลอดภาษีอากร (11) ให้ลูกเรือติดต่อสื่อสารกับนักบินผ่านอุปกรณ์สื่อสารภายในอากาศยาน (Interphone) เป็นหลัก และได้รับอนุญาตให้เข้าและออกห้องนักบินเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักบินเฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น
(12) เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินโดยใช้ระยะเวลาน้อยกว่า 120 นาที ให้งดการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในระหว่างการปฎิบัติการบิน รวมทั้งห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่นำติดตัวมา ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นลูกเรือจะเป็นผู้พิจารณาตามสถานการณ์ หากเห็นสมควร ให้ลูกเรือสามารถบริการน้ำดื่มแก่ผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ ให้กระทำในพื้นที่ที่ห่างจากผู้โดยสารคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินโดยใช้ระยะเวลามากกว่า 120 นาที สามารถบริการอาหารและเครื่องดื่มได้ โดยพิจารณาบรรจุภัณฑ์แบบปิด (sealed, pre-packaged containers) สำหรับการให้บริการและการจัดเก็บหลังการให้บริการ โดยลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างการให้บริการให้มากที่สุด แต่ยังคงต้องดูแลและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในห้องโดยสาร
(13) เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินโดยใช้ระยะเวลามากกว่า 240 นาที ให้มีการสำรองที่นั่ง 3 แถวหลังสุดด้านใดด้านหนึ่งของอากาศยานไว้สำหรับแยกกักผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและป้องกันการแพร่กระจายของโรค ในกรณีที่พบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะอยู่ในอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ On-board Emergency Quarantine ดังนี้
(ก) ให้แยกกักผู้ที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยให้นั่งที่ที่นั่งซึ่งสำรองไว้ ตามที่ระบุในวรรคแรกโดยให้ห่างไกลจากผู้โดยสารคนอื่นมากที่สุด
(ข) ในกรณีที่มีห้องน้ำมากกว่าหนึ่งห้อง ให้กันห้องน้ำที่อยู่ใกล้บริเวณที่สำรองไว้ตามวรรคแรก ไว้สำหรับเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วย
(ค) พิจารณากันห้องน้ำห้องหนึ่งไว้สำหรับลูกเรือได้ใช้โดยเฉพาะ โดยให้คำนึงถึงจำนวนห้องน้ำที่เพียงพอสำหรับผู้โดยสารได้ใช้ด้วย
(ง) ให้มอบหมายให้ลูกเรือคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แยกกัก และให้ลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับลูกเรือคนอื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
(จ) ให้นักบินผู้ควบคุมอากาศยานแจ้งข้อมูลการตรวจพบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ เพื่อรายงานให้แก่ผู้ดำเนินการสนามบิน ณ ท่าอากาศยานปลายทางทราบ
(14) ทำความสะอาดชุดอุปกรณ์ในห้องโดยสารที่ต้องส่งต่อหรืออาจมีการส่งต่อ เช่น อุปกรณ์สาธิตเพื่อความปลอดภัย (Safety demonstration kits) เข็มขัดนิรภัยส่วนต่อขยาย (Extension Seat Belt) เข็มขัดนิรภัยส่วนต่อขยายสำหรับทารก (Infant Seat Belt) เสื้อชูชีพสำหรับทารก (Infant Life Vest) เป็นต้น ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากการใช้งานของผู้โดยสาร หรือก่อนส่งต่อให้ลูกเรือผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
ผู้ดำเนินการเดินอากาศอาจจัดหาชุดอุปกรณ์ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ (Universal Precautions Kits; UPK) และน้ำยาฆ่าเชื้อ (Disinfecting Agent) ให้มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมในแต่ละเที่ยวบิน เพื่อให้ลูกเรือใช้ทำความสะอาดและกำจัดของเหลวที่มีอันตรายทางชีวภาพเพื่อลดการแพร่เชื้อโรคในห้องโดยสาร
(15) หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติการบินทุกครั้ง ให้ทำการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) ในส่วนของห้องโดยสารตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (16) ในระหว่างที่อากาศยานจอดพักหรือจอดบำรุงรักษา ให้พิจารณาใช้แหล่งพลังงานสำรอง (Auxiliary Power Unit; APU) แทนการใช้อากาศจากสะพานเทียบอากาศยาน และหลังจากไปถึงสถานีปลายทางแล้วควรเปิดประตูระบายอากาศด้วย
(17) แผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง หรือ High Efficiency Particulate Air (HEPA) Filter ต้องได้รับการเปลี่ยนตามกำหนดเวลาที่ระบุในคู่มือผู้ผลิต ชิ้นส่วนที่ใช้แล้วให้ทำการบรรจุใส่ถุงพลาสติกและปิดให้เรียบร้อย (18) หากอากาศยานมีข้อบกพร่องตามรายการอุปกรณ์ขั้นต่ำที่ใช้งานได้ (Minimum Equipment List; MEL) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบทำความเย็นและปรับสมดุลความดันและระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้องโดยสาร (Air Conditioning Packs and Recirculation Fans) ต้องทำการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
6. ให้ผู้ดำเนินการสนามบินดำเนินมาตรการ ดังนี้
(1) ตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน โดยต้องมีตรวจสอบการสวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก และการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact Infrared Thermometer) หากบุคคลนั้นไม่สวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก หรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส ให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่ท่าอากาศยาน
(2) จัดให้มีแอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70% ใช้สำหรับล้างมือไว้ให้บริการอย่างเพียงพอให้กับผู้โดยสารและพนักงานของผู้ดำเนินการเดินอากาศ (3) จัดการเกี่ยวกับการเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 (หนึ่ง) เมตรในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีจัดไว้ให้ดำเนินกิจกรรม เช่น พื้นที่ที่ผู้ดำเนินการเดินอากาศใช้เพื่อดำเนินการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check- in counter) พื้นที่จุดตรวจค้น (Security Check) พื้นที่ที่ผู้โดยสารรอขึ้นเครื่อง (Boarding Gate) เป็นต้น (4) ควรจัดทำป้ายสัญลักษณ์ เครื่องหมายบนพื้น และประกาศผ่านระบบเสียงประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมการเว้นระยะห่าง (5) ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) พื้นที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
(6) พิจารณาใช้เครื่องปรับอากาศและระบบกรองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความสะอาดของอากาศ ลดการหมุนเวียนและเพิ่มอัตราส่วนอากาศบริสุทธิ์ ทั้งนี้ ควรงดการใช้ลมเป่าแบบแนวนอน (7) พิจารณาระดับการป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นกรณีๆ ไป เช่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) โปรแกรมคัดกรองสุขภาพสำหรับพนักงาน การจัดตารางเวลาทำงาน การจัดเตรียมแอลกอฮอล์ล้างมือให้เพียงพอ เป็นต้น
(8) ควรมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าอาคารผู้โดยสาร โดยให้สิทธิเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสนามบิน ผู้โดยสารและผู้เดินทางร่วมกับผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือเด็กที่เดินทางโดยลำพังก่อนในระยะเริ่มต้น เพื่อลดความแออัดและแถวคอย รวมถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น (9) นำเครื่องมือบริการตนเองต่างๆ มาใช้ เช่น เครื่องออกบัตรโดยสารและป้ายติดสัมภาระอัตโนมัติ (Kiosk) เครื่องโหลดสัมภาระอัตโนมัติ (Self-Bag Drop) เป็นต้น เพื่อลดการติดต่อสัมผัส และจะต้องมีการดูแลรักษาอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสมและมีการฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
(10) พิจารณาใช้การตรวจค้นโดยใช้เครื่องมือตรวจจับโลหะแบบเดินผ่าน (Walk Through Metal Detector; WTMD) พนักงานตรวจค้นควรลดการใช้วิธีการตรวจค้นด้วยมือ โดยมีการแจ้งให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าในเรื่องการเตรียมตัวสำหรับการตรวจค้น (11) ควรพิจารณาปิดการให้บริการชั่วคราวหรือเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่ให้บริการบางแห่ง เช่น ที่นั่งในร้านอาหารหรือที่นั่งเอนกประสงค์ พื้นที่สูบบุหรี่ พื้นที่เล่นสำหรับเด็ก เป็นต้น
(12) พิจารณาใช้สายพานรับสัมภาระเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดของผู้โดยสาร และสำหรับเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงสูงให้พิจารณาแยกใช้สายพานที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ (13) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 6/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) สั่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ในส่วนของการขนส่งสาธารณะ รวมทั้งติดตามและปฏิบัติตามมาตรการอื่นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่มีผลใช้บังคับแก่ท่าอากาศยาน
(14) พิจารณาใช้ความเข้มงวดในการให้บริการแก่อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical Landing) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง และหากมีการสับเปลี่ยนผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยาน บุคคลดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามมาตรการตาม (13) โดยเคร่งครัด
7. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งเตือนผู้โดยสารเพื่อให้รับทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับมาตรการทางสาธารณสุขก่อนการเดินทาง และให้ประกาศแจ้งผู้โดยสารอีกครั้งในระหว่างการเดินทาง เพื่อให้ทราบว่าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ควบคุมอากาศยานหรือเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสวมอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก และมาตรการทางสาธารณสุขอย่างอื่นบนอากาศยานเป็นความผิดและอาจได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ
8. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งแนวทางปฏิบัติตามข้อ 5. วิธีการและข้อควรระวังเพิ่มเติม รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินให้เจ้าหน้าที่ของตนทราบและถือปฏิบัติ 9. ให้ผู้ดำเนินการสนามบินแจ้งแนวทางปฏิบัติตามข้อ 6. ให้เจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยานของตนทราบและถือปฏิบัติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดไป หรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม