นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อรองรับกลุ่มแรงงานและผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดกว่า 40,000 คน โดยทุกภาคส่วนต่างร่วมกันหามาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในห้วงเวลาดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งนอกจากจะมีมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 15,000 บาทแล้ว ยังได้มีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มแรงงานกลับคืนถิ่นที่ได้รับผลกระทบรวมถึงผู้ว่างงานที่สนใจปรับเปลี่ยนอาชีพเข้าสู่ภาคการเกษตร
โดยได้มอบหมาย สศก.จัดทำโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจการเกษตรอาสาประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร” โดยอบรมและสาธิตการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการสินค้าเกษตรผลผลิตทางการเกษตร ผ่านเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) พร้อมบูรณาการขับเคลื่อนผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์ปฏิบัติการอื่นๆ จากภาครัฐ หรือโดยกลุ่มองค์กรประชาชน ในการช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่นให้สามารถทำการเกษตรเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีที่มติ ครม. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ได้อนุมัติโครงการฟื้นฟูเยียวยาภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการอบรม “แรงงานคืนถิ่น” ในครั้งนี้สามารถบูรณาการและเชื่อมโยงรวมถึงต่อยอดขยายผลการพัฒนาร่วมกับโครงการต่างๆ ที่สำคัญภายใต้โครงการฟื้นฟูเยียวยาฯ ในหลายโครงการ เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่มีการส่งเสริมและให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ได้จากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สศก.ได้ถือโอกาสในเดือนกรกฎาคม เดือนมหามงคลของปวงชนชาวไทย ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2563 เปิดตัวโครงการดังกล่าวนำร่องกิจกรรมครั้งแรก ณ ศพก. อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ โดยปราชญ์เกษตรตัวอย่าง คือ นายเชิดชัย จิณะแสน ศกอ. จ.ศรีสะเกษ และประธาน ศพก.ระดับประเทศ ซึ่งเป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถพลิกฟื้น ยืนหยัด พึ่งพาตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ รวมทั้งยังเป็นอาชีพที่มีความยั่งยืน สามารถก้าวข้ามหรือรอดพ้นได้ทุกสถานการณ์ ทั้งจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 รวมถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในครั้งนี้ สศก.มีแผนดำเนินกิจกรรมในทุกภาค โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ร่วมกับ ศกอ. ในพื้นที่จัดอบรมให้แก่เกษตรกร แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และผู้ว่างงานกว่า 1,000 รายบูรณาการต่อยอดและขยายผลไปสู่การเชื่อมโยงกับการพัฒนาอาชีพจากหน่วยงานต่างๆ
กิจกรรมภายใต้โครงการ จะเน้นกิจกรรมอบรมและสาธิต ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพเกษตรอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การปรับพื้นฐานความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง การทำการเกษตรที่สามารถเลี้ยงชีพได้ภายใน 7 วัน การปลูกพืชสวนครัว พืชไร่ ไม้ผล การประมง การจัดการแหล่งน้ำ การปศุสัตว์ การปลูกป่าและไม้เศรษฐกิจ และที่สำคัญคือ องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมในพื้นที่และให้ผลตอบแทนสูง ผ่านแอปพลิเคชัน ฟาร์ม D การคิดต้นทุนการผลิตด้วยแอปพลิเคชันกระดานเศรษฐี (RCMO) การจัดทำแผนธุรกิจ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล BIG Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เพื่อให้ก้าวทันยุคดิจิทัลในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว