xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายเลขาฯ เงินกู้ 4 แสนล้าน ติวเข้ม “ผู้ว่าฯ” ผ่านระบบ กบภ.-กนจ. ส่วน ก.เกษตรฯ เร่งจัดทำแผนฟื้นฟู ชู ศก.พอเพียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝ่ายเลขาฯ โครงการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านฟื้นฟูประเทศ ติวเข้มผู้ว่าฯ-หน่วยราชการสังกัดมหาดไทยในภูมิภาค ผ่านระบบ กบภ.-กนจ. เตรียมจัดทำและเสนอโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ด้าน ก.เกษตรฯ เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูภาคเกษตร ชูเศรษฐกิจพอเพียง ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ยกระดับการผลิต

วันนี้ (27 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วานนี้ (26 พ.ค.) มีการชี้แจงผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อแนวทางการเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ วงเงิน 400,000 ล้านบาท ในแผนงาน/โครงการ กลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 พ.ศ. 2563 แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอและผู้เกี่ยวข้อง สังกัดกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดทำและเสนอโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยสำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามมาตรา 7 ของพระราชกำหนดฯ นำเสนอ

โดยมีการแจ้งถึงกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ วงเงิน 400,000 ล้านบาท และรูปแบบในแผนงาน/โครงการ กลุ่มที่ 3 เช่น การกรอกข้อมูลแผนงาน ที่เป็นโครงการ แผนงาน หรือโครงการย่อยที่ความสอดคล้องกับเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พ.ร.ก. และเน้นย้ำไปถึงกระบวนการจัดทำโครงการผ่านระบบ กบภ.และ กนจ. เช่น การจัดทำข้อเสนอโครงการ" ให้ส่วนราชการ/องค์กร/มูลนิธิ/กองทุนหมู่บ้าน/วิสาหกิจชุมชน ในจังหวัดจัดทำโครงการตามแบบฟอร์มที่กำหนด กรณีหน่วยงาน/องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐจะต้องเสนอโครงการผ่านหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจสอดคล้องกัน เช่น สหกรณ์ เสนอผ่าน สำนักงานสหกรณ์จังหวัด เพื่อรวบรวมและเสนอต่อคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.)

โดยข้อเสนอโครงการควรได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ และสอดคล้องกับแผนหมู่บ้าน/ชุมชน แผนความต้องการของอำเภอ แผนพัฒนาจังหวัด รวมถึงตัวอย่างโครงการที่คาดว่าจะมีการนำเสนอผ่าน เป็นต้น

“สภาพัฒน์เน้นย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานราชการในระดับภูมิภาคว่าจะเปิดให้หน่วยงานราชการ นำเสนอแผนโครงการฟื้นฟูได้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน จากนั้นคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 2 กรกฎาคม คาดว่าเสนอ ครม.วันที่ 7 ก.ค. เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค. 2563”

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้กำลังเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูภาคเกษตรเพื่อเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำหรับแนวทางที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญ คือ การฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ยกระดับการผลิตตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยจะต้องหาตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของไทยเพราะหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการอาหารและสินค้าเกษตรของทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ จะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาส่งเสริมเกษตรกรให้ประกอบอาชีพตามศาสตร์พระราชาและทฤษฎีใหม่เพื่อให้เกษตรกรดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง นอกจากนั้นจะส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการทำการเกษตร โดยมาตรการเหล่านี้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 จะต้องเร่งทำเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น