xs
xsm
sm
md
lg

"เซ็นทรัล รีเทล"เปิดสูตรปูพรมเวียดนาม ถอดรหัสรายได้ 3.7 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด – “เซ็นทรัล รีเทล” สยายปีกบุกหนัก ตลาดประเทศเวียดนาม เปิดแผนปูพรมธุรกิจทั่วเวียดนามภายใน 5 ปี ด้วยโมเดลที่สำเร็จมาแล้ว เผย 8 ปีกรุยทางมาผลงานสุดปลื้ม ล่าสุดปี2562 โกยรายได้แล้วกว่า 37,000 ล้านบาท

เครือเซ็นทรัล โดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีกหรือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เคลื่อนทัพสู่ต่างประเทศอย่างจริงจัง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในหลายประเทศแล้ว ด้วยการวางรากฐานและพัฒนาธุรกิจเครือข่ายกระทั่งเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

โดยมี เวียดนาม เป็น 1 ใน 2 ตลาดหลักสำคัญกับอิตาลี

แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าตลาดที่อิตาลี และเยอรมัน และอีกหลายแห่งในยุโรปของเซ็นทรัลรีเทล ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรปที่สถานการณ์โควิดรุนแรงมากขึ้นกว่าในเอเซียในช่วงหลังนี้

ขณะที่เวียดนามเองแม้ว่าจะมีผลกระทบจากโควิด แต่ก็ไม่ได้รุนแรงมากนัก

ทั้งนี้ แทบจะกล่าวได้ว่า เซ็นทรัล รีเทล เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกจากต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามก็ไม่ผิดนัก บนฐานลูกค้ากว่า 12 ล้านคน

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2555 ที่เซ็นทรัล รีเทล เข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนาม ด้วยเล็งเห็นศักยภาพและโอกาสในการขยายธุรกิจ โดยเริ่มจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายแบรนด์สินค้าแฟชั่น จนถึงก้าวสำคัญในปี 2558 ที่เข้าร่วมทุนกับเหงียนคิม และลานชี มาร์ท ผู้ประกอบการรายใหญ่ของเวียดนาม ทำให้เซ็นทรัล รีเทล เวียดนามในขณะนั้นมีร้านค้า 85 แห่ง ใน 15 จังหวัด และมีพื้นที่ขายสุทธิอยู่ที่ 170,000 ตรม.

แบรนด์ที่เปิดในเวียดนามในยุคนั้นคือ ซูเปอร์สปอร์ต โรบินสัน บิ๊กซี ร้านครอคส์ ร้านนิวบาลานซ์ ยีนส์ลี เป็นต้น

อะไรที่ทำให้เซ็นทรัลถึงผงาดและประสบความสำเร็จได้ในเวียดนาม ในช่วงเวลาเพียง 8 ปีเท่านั้น


อันที่จริงแล้ว ยุทธศาสตร์การทำธุรกิจของเซ็นทรัลในต่างแดนหรือในเวียดนามก็ไม่ต่างจากที่ทำในไทยเท่าใดนัก ทั้งการขยายเครือข่าย การสร้างธุรกิจใหม่ การหาพันธมิตร หรือแม้แต่การเทคโอเวอร์

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยยุทธศาสตร์ที่เน้นการขยายธุรกิจหลากหลายรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นสูง (Resilient Portfolio) และการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วน (Partnership) พร้อมนำเทคโนโลยีมาเสริมทัพธุรกิจ ทำให้เซ็นทรัล รีเทล สามารถขยายธุรกิจที่เติบโตและแข็งแกร่งได้อย่างรวดเร็ว

หรือแม้แต่อีกกลยุทธ์หนึ่งที่นำมาเสริมคือ การนำเอาแพลตฟอร์มหรือโมเดลธุรกิจต่างๆที่ประสบความสำเร็จในไทย นำไปต่อยอดที่เวียดนามอีกทอดหนึ่งด้วย

ไม่ว่าจะเป็น การเปิดร้านซูเปอร์สปอร์ตในเวียดนาม, การพัฒนาศูนย์การค้า GO! ซึ่งต่อยอดมาจากโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ และการนำโมเดลธุรกิจร้านค้าเฉพาะทางต่างๆ ไปปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของชาวเวียดนาม จนเกิดเป็นธุรกิจ ฟู้ด ซิตี้, คุโบ, เฮลโหล บิวตี้ รวมถึงการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเวียดนามและประเทศไทย เพื่อวางจำหน่ายในเครือข่ายธุรกิจของทั้งสองประเทศอีกด้วย

“เซ็นทรัล รีเทล ยังเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ชุมชนและสังคมที่ยั่งยืน โดยเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคม อาทิ โครงการรับซื้อสินค้าท้องถิ่น (Local Sourcing) โครงการฟาร์เมอร์ มาร์เก็ต (Weekend Farmers’ Market) สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นและผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ในการให้พื้นที่วางจำหน่ายสินค้าในบิ๊กซี ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ต่อยอดมาจากตลาดจริงใจที่ประสบความสำเร็จในเมืองไทย” นายญนน์ กล่าว

ขณะที่แผนการขยายธุรกิจจากนี้ก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่


“ในปี 2563 เซ็นทรัล รีเทล ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านแผนธุรกิจที่เน้นการขยายสาขา” นายฟิลิป ฌ็อง บราเอ็นนิโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม กล่าว

ทั้งนี้ในปี2563 เซ็นทรัล รีเทล วางแผนที่จะเปิดศูนย์การค้า GO! เพิ่มอีก 6 สาขา ได้แก่ สาขาจ่าวิญ (Tra Vinh) ซึ่งเปิดไปแล้ว, กว๋างหงาย (Quang Ngai), บวนมาถวด (Buon Ma Thuot), เบ๊นแจ (Ben Tre), บ่าเหรี่ยะ (Ba Ria) และท้ายเหงียน (Thai Nguyen)

รวมถึงรีแบรนด์บิ๊กซีเป็น GO! เพิ่มอีก 4 สาขา พร้อมพัฒนาเทคโนโลยี และช่องทางออมนิแชแนล โดยมุ่งเน้นการทำธุรกิจแบบผนึกกำลัง (Synergy) ผ่านการผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำ เช่น แกร็บ บนฟีเจอร์ GrabMart เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์เรื่องความรวดเร็วในการให้บริการลูกค้า เพื่อก้าวสู่การเป็นธุรกิจ Multi-Format เต็มรูปแบบ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์อย่างไร้รอยต่อ

ในระยะยาวแล้วตั้งเป้าไว้ภายใน 5 ปี เซ็นทรัล รีเทล จะต้องขยายธุรกิจให้ครอบคลุม 55 จังหวัดทั่วประเทศเวียดนาม เพื่อมอบบริการที่ทั่วถึงในทุกพื้นที่ ตลอดจนสร้างงานและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชาวเวียดนาม จากปัจจุบันที่มีธุรกิจใน 39 จังหวัด จากทั้งหมด 63 จังหวัดของเวียดนาม


เหตุผลที่เซ็นทรัลรีเทลปักธงในเวียดนาม เพราะถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมากและถือเป็นตลาดเปิดใหม่ที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก เวียดนามเปรียบเสมือนหนึ่งเสือเศรษฐกิจที่แข็งแรงแห่งภูมิภาคอาเซียน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของประเทศเวียดนามนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 GDP ประเทศเวียดนามเติบโตขึ้นถึง 7% ท่ามกลางภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.82% แม้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ก็ตาม

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของประเทศเวียดนามนั้น มีผลมาจากการที่เวียดนามมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานกว่า 50 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดกว่า 95 ล้านคน ประกอบกับนโยบายจากภาครัฐที่สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และล่าสุดกับการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป ทำให้ประเทศเวียดนามมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก และพร้อมก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลก

จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เซ็นทรัลรีเทลวางแผนสร้างอาณาจักรในตลาดเวียดนามให้ใหญ่ขี้นต่อเนื่อง

จากจุดเริ่มต้นธุรกิจที่สร้างรายได้ราว 300 ล้านบาทในปี 2557 ปัจจุบัน เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม สามารถสร้างรายได้ถึง 37,000 ล้านบาท ในปี 2562 และแม้กระทั่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังสามารถดำเนินธุรกิจ และมีรายได้ที่มาจากความพร้อมของช่องทางออมนิแชแนลทั้งร้านค้า และระบบออนไลน์ พร้อมด้วยฐานลูกค้าที่แข็งแรงกว่า 12 ล้านคน ถือเป็นบทพิสูจน์ว่าเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ยังสามารถสร้างยอดขายให้เติบโตต่อเนื่อง และให้บริการลูกค้าได้ในทุกสถานการณ์

การเติบโตในตลาดเวียดนามของกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่ปี 2556-2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 340% เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากปี 2556 ที่กุล่มเซ็นทรัลได้เริ่มทำธุรกิจในเวียดนามมีรายได้เพียง 120 ล้านบาท กระทั่งถึงปี 2560 มีรายได้ 44,800 ล้านบาท


หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า รายได้จากเวียดนามมีสัดส่วนที่เพิ่มมาอย่างมีนัย

โดยในปี2560 สัดส่วนยอดขายในประเทศไทยมีประมาณ 72%, ยอดขายจากยุโรป 15% และยอดขายจากประเทศเวียดนาม 13%

ขณะที่ในปี2561 ที่มีรายได้รวมประมาณ 240,297 ล้านบาท มาจากจุดขายรวมทั้งในไทย อิตาลี และเวียดนาม 3,936 สาขา ฐานลูกค้ารวม 27 ล้านราย จาก 3 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มอาหาร สัดส่วนรายได้ 43%, 2.กลุ่มแฟชั่น สัดส่วนรายได้ 35% และ 3.กลุ่มฮาร์ดไลน์ สัดส่วนรายได้ 22%

ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ยังคงมาจาก ประเทศไทยเป็นหลักมากกว่า 77% โดยมีเวียดนาม ตามมาเป็นอันดับที่2 ด้วยสัดส่วนกว่า 15% เพิ่มจากเดิมปี 2560 ประมาณ 2% และ อิตาลี ประมาณ 8%

“ความสำเร็จของเซ็นทรัล รีเทลในเวียดนามนั้น เกิดขึ้นจากการคงไว้ซึ่งดีเอ็นเอของเราที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และแสวงหาโอกาสในการเติบโตอยู่เสมอ เรายังคงมุ่งมั่นลงทุนในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ด้วยศักยภาพของประเทศที่ยังเติบโตได้อีกมาก และยังคงยึดมั่นวิสัยทัศน์องค์กรที่มุ่งสร้างความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวเวียดนามทุกคน ทั้งนี้เราขอขอบคุณลูกค้าชาวเวียดนามทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและตอบรับกับเซ็นทรัล รีเทล ด้วยดีเสมอมา” นายญนน์ กล่าว

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน ปี 2563) เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม มีเครือข่ายในเวียดนามดังนี้ จำนวนศูนย์การค้าทั้งสิ้น 35 แห่ง ร้านค้ามากกว่า 230 แห่ง ครอบคลุม 39 จังหวัด จาก 63 จังหวัดทั่วประเทศ บนพื้นที่กว่า 1,080,000 ตรม.

โดยมีธุรกิจมีหลากหลายแบรนด์ เช่น ร้านซูเปอร์สปอร์ต ห้างสรรพสินค้าโรบินส์ ร้านครอคส์ ร้านนิวบาลานซ์ ร้านสปีดโด้ ร้านเหงียนคิม ร้านลานซีมาร์ท บิ๊กซี ลุคคูล เฮลโหลบิวตี้ ร้านสเกตเชอร์ส คูโบ ฟู้ดซิตี้ โก เป็นต้น โดยมีพนักงานรวมมากกว่า 15,000 คน และมีปริมาณาลูกค้าที่เข้าร้านในเครือข่ายรวมมากกว่า 175,000 คนต่อวัน


เซ็นทรัล รีเทล ยังคงปักธงมุ่งเน้นการขยายธุรกิจในเวียดนามใน 3 กลุ่มหลัก คือ 1. ธุรกิจนอนฟู้ด ( Non-Food) ได้แก่ ร้านค้าจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง ประมาณ 170 แห่ง, 2. ธุรกิจบริหารศูนย์การค้า (Property) ได้แก่ GO รวม 35 แห่งใน 24 เมือง และจะเปิดเพิ่มอีก 6 สาขาในปี 2563 นี้ ทั้งนี้ศูนย์การค้าโก! (GO!) ดังกล่าวคือธุรกิจที่รีแบรนด์มาจากบิ๊กซี

3.ธุรกิจอาหาร (Food) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ เพื่อบริการและรองรับลูกค้าได้ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง ได้แก่

1. ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hyper GO!) รวม 32 แห่ง ครอบคลุมทุกเมืองสำคัญของเวียดนาม
2. ซูเปอร์มาร์เก็ต ในเมืองหลัก (Super GO!) รวม 7 แห่ง ใน 2 เมือง คือ กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์
3. ซูเปอร์มาร์เก็ต ในพื้นที่ต่างจังหวัด (ลานชี มาร์ท) รวม 25 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของเวียดนาม และเป้าหมายหลักของเครือเซ็นทรัลที่ต้องการจะสร้างอาณาจักรต่างประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้น ในอนาคตอาจจะได้เห็นธุรกิจใหม่ๆในเครือข่ายเซ็นทรัลปรากฏขึ้นที่เวียดนามเพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้

“หัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม คือ การร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเราไม่เพียงเข้าไปเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังได้ร่วมสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคมเวียดนามอย่างยั่งยืน ตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะเป็น Central of Life หรือศูนย์กลางการใช้ชีวิตของชาวเวียดนามทุกคน และเราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าด้วยความแข็งแกร่งของ Central Retail & Service Platform ประกอบกับการมีพอร์ตธุรกิจที่ยืดหยุ่น และหลากหลายในต่างประเทศ จะทำให้เราสามารถขยายธุรกิจไปได้อีกมหาศาลและเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว” นายญนน์ กล่าว


นี่คือ ยุทธศาสตร์และเกมการเดินทัพของของเซ็นทรัลรีเทลหรือซีอาร์ในตลาดเวียดนามที่น่าสนใจ

จากนี้ไป ซีอาร์ซียังคงรุกหนักต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายที่ประกาศไว้ว่า จากนี้ไปภายใน 5 ปี เซ็นทรัล รีเทล จะต้องขยายธุรกิจให้ครอบคลุม 55 จังหวัดทั่วประเทศเวียดนามให้ได้

แน่นอนว่า ด้วยโมเดลธุรกิจ สูตรแห่งการรุก และแผนในการขยายอาณาจักร ตามยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา ย่อมเป็นแม่แบบเบิกทางให้บรรลุเป้าหมาย

สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรก 2563 ของซีอาร์ซี มีรายได้รวมอยู่ที่ 54,285 ล้านบาท เติบโต 1% และมี EBITDA อยู่ที่ 5,879 ล้านบาท เติบโต 5% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 890 ล้านบาท ลดลง 63% เนื่องมาจากผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่กระทบไปทั่วโลก

แต่ทว่าการปรับตัวสู่ช่องทางออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์มที่หลากหลายทำให้ช่องทางออมนิแชแนลมีการเติบโตสูงถึง 93% โดยธุรกิจกลุ่มฟู้ด เติบโต 4% ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม เช่นเดียวกับธุรกิจกลุ่มฮาร์ดไลน์ ที่มีรายได้เติบโตสวนตลาดเพิ่มขึ้น 32% ส่วนธุรกิจกลุ่มแฟชั่น เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านยอดขายทั้งในประเทศไทยและอิตาลี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 .




กำลังโหลดความคิดเห็น