ส.อ.ท.เผยผลการหารือทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กังวลแผนส่งเสริมรถยนต์อีวีไทยไม่คืบหน้า เหตุผุดสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ต่ำมากทำให้ไม่เอื้อต่อการทำตลาด ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขอาจกระทบแผนลงทุนอีวี พร้อมแนะไทยเสริมจุดแข็งดึงการลงทุนด้วยการเข้าร่วม CPTPP
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยถึงทิศทางการลงทุนในไทย ซึ่งเยอรมนีมีความเป็นห่วงในเรื่องของนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ขณะนี้การสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าเพื่อรองรับรถอีวียังมีต่ำมากซึ่งไม่เอื้อต่อการเพิ่มปริมาณรถอีวีในไทยหรือยอดขายในไทยได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะทำให้ค่ายรถเยอรมนีที่มีโรงงานในไทยอาจชะลอการลงทุนออกไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้
“ทางเยอรมนีมองว่าไทยยังไม่ค่อยจริงจังกับนโยบายส่งเสริมการใช้รถอีวีนัก เพราะจะเห็นว่าสถานีอัดประจุไฟฟ้าหรือปั๊มชาร์จรถอีวียังมีน้อยมาก และกฎหมายของไทยยังไม่มีมาตรการบังคับให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่ม เช่น การสร้างคอนโดมิเนียมยังไม่มีกฎหมายบังคับให้มีจุดชาร์จไฟฟ้า หรือในสถานที่อื่นๆ หากไทยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้าก็ยากที่จะผลักดันให้มีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้” นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ นั้น มองว่าขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ทั้งของเยอรมนี และสหภาพยุโรป (อียู) ยังไม่ได้มีแผนชัดเจนการเข้ามาลงทุนในอาเซียน ดังนั้นไทยควรจะฉวยโอกาสในช่วงนี้ดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศไทย โดยใช้จุดเด่นในมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไทยทำได้ดี อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการผลิตเพื่อจำหน่ายในอาเซียน ซึ่งมั่นใจว่ายังมีบริษัทขนาดใหญ่ในยุโรปต้องการมาลงทุนในภูมิภาคนี้อีกมาก
นอกจากนี้ยังได้เสนอให้ไทยเพิ่มจุดแข็งการดึงดูดการลงทุน โดยการขยายความร่วมมือเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ เช่น เขตการค้าเสรีไทย-ยุโรป และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยเฉพาะ CPTPP ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกต้องการให้ไทยเข้าร่วมมาก ได้ทำหนังสือไปยังคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้ช่วยผลักดันในเรื่องนี้ ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วมจะทำให้ลดความสามารถในการดึงดูดการลงทุน และอาจทำให้มีธุรกิจบางส่วนของญี่ปุ่นย้ายไปลงทุนประเทศอื่นที่เป็นสมาชิก CPTPP ทำให้ในอนาคตอาจทำให้ซัปพลายเชนต่างๆ หรือชิ้นส่วน วัตถุดิบต่างๆ ย้ายตามออกไปด้วย ส่งผลให้จุดแข็งในเรื่องซัปพลายเชนของไทยอ่อนแอลง
“เยอรมนีได้เสนอให้ไทยขยายความร่วมมือทางการค้าเช่นการเข้าร่วม CPTPP เพื่อเพิ่มจุดแข็ง พร้อมกันนี้ยังอยากให้มองธุรกิจเยอรมนีที่เข้ามาตั้งในไทยให้มีสิทธิต่างๆ เท่าเทียกับบริษัทของไทย เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ และมาตรการส่งเสริมต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการขยายกิจการต่างๆ ในไทยเพิ่มขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าว