xs
xsm
sm
md
lg

พิษโควิด! ผู้รับเหมาแห่ขอยืดเวลาก่อสร้าง-ทช.โอดขาดแคลนวิศวกรจับมือ วสท.อบรมเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทช.เผยพิษโควิด-19 ทำผู้รับเหมากว่า 30 สัญญา ขอขยายเวลาก่อสร้าง เร่งตรวจสอบเหตุผลกระทบจริงหรือไม่ ขณะที่ยอมรับมีวิศวกรน้อยไม่เพียงพอกับปริมาณงาน จับมือ วสท.อบรมวิชาชีพ กับท้องถิ่นช่วยยกระดับความรู้ Safety Road

นายไกวัลย์ โรจนานุกูล รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ทช.ได้รับงบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยมีโครงการถนนประมาณ 6,000 โครงการที่ต้องดำเนินการก่อสร้าง โดยมีงานขนาดเล็กระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ 90 วัน ไปจนโครงการใหญ่ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งขณะนี้รัฐบาลต้องการเร่งรัดงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้รับจ้างทิ้งงานเนื่องจากปัญหาขาดสภาพคล่องจำนวนไม่มากส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดงบประมาณ 100 ล้านบาทขึ้นไป

ขณะที่ผลกระทบจากโรคโควิด-19 นั้น ทำให้มีผู้รับเหมาประมาณ 30-40 สัญญายื่นหนังสือถึง ทช.เพื่อขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง เรื่องนี้ทางกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเวียนแจ้งว่าสามารถดำเนินการแต่ต้องพิจารณาเหตุผลว่าได้ผลกระทบจากกรณีเกิดรคโควิด-19 จริงหรือไม่ โดยขณะนี้ ทช.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเพื่อพิจารณาต่อไป

นายไกวัลย์กล่าวว่า ปัจจุบัน ทช.รับผิดชอบถนนประมาณ 50,000 กม. นอกจากนี้จะมีถนนของท้องถิ่นที่จะต้องร่วมดูแลประมาณ 100,000 กม. ขณะที่ ทช.มีวิศวกรประมาณ 1,000 คนเท่านั้น ทำให้วิศวกรแต่ละคนมีภาระต้องรับผิดชอบจำนวนมาก โดยเฉพาะงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยซึ่งถนนของท้องถิ่นที่จะต้องมีการปรับปรุงค่อนข้างมาก

จับมือ วสท.อบรมยกระดับความรู้ Safety Road

โดยวันนี้ (1 ก.ค.) กรมทางหลวงชนบท ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) พัฒนาส่งเสริมการทำงานด้านวิศวกรรมให้แก่บุคลากรทั้งในส่วนกลาง และท้องถิ่น ให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้นครอบคลุมทั้งในด้านการก่อสร้าง สิ่งแวดล้อม งานความปลอดภัย

นายธเนศ วีระศิริ นายก วสท.กล่าวว่า วสท.จะดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการตรวจสอบความปลอดภัยงานทาง จัดทำมาตรฐานงานทาง สะพาน และงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากครั้งก่อน มีวาระ 3 ปี โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วสท.ดำเนินการจัดฝึกอบรมให้กับบุคลาการส่วนท้องถิ่นจำนวน 2,000 ราย ครั้งนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 4,000 ราย ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้ใบรับรองช่วยในการยกระดับวิศวกรรมงานทางและพัฒนาผู้ตรวจสอบความปลอดภัยที่ยั่งยืนตามระบบสากล หรือ Road Safety Audit System

“ตอนนี้วิศวกรค่อนข้างขาดแคลน มีขึ้นทะเบียนประมาณ 1.8 แสนคน สาเหตุหนึ่งเนื่องจากผู้ที่จบการศึกษาด้านนี้จะเข้าสู่อาชีพวิศวกรเพียง 30-40% ที่เหลือหันไปทำอาชีพอื่น เพราะมีรายได้สูงกว่า”




กำลังโหลดความคิดเห็น