xs
xsm
sm
md
lg

มาแน่! เรือไฟฟ้าต้นแบบ “แสนแสบ-เจ้าพระยา” เสร็จแล้ว แล่นทดสอบ ส.ค.นี้ ประเมินผล 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจ้าท่าเผยเรือไฟฟ้าต้นแบบเสร็จแล้ว เร่งทดลองแล่นในคลองแสนแสบ และเจ้าพระยา ส.ค.นี้ ขณะที่เซ็น MOU สวทช.-บ้านปู-สกุลฎ์ซี ผลิตเรือไฟฟ้าแล่นในทะเล กรมเจ้าท่า เตรียมทำสถานีชาร์จไฟฟ้าร่วม ช่วยประหยัดต้นทุนเอกชน
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การศึกษาเพื่อพัฒนาเรือใช้พลังงานไฟฟ้านั้นมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยโครงการจัดหาระบบเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ (โมเดล) ในคลองแสนแสบ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) นั้นได้ต่อเรือเสร็จแล้ว เหลือเก็บรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งอีก 2 เดือนจะแล่นทดลองได้หรือไม่เกินเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งมีการเลื่อนแผนงานทดสอบเนื่องจากติดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการประเมินผล วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการให้บริการ ประสิทธิภาพความคุ้มทุนของเอกชนผู้ประกอบการ ซึ่งหากไม่มีข้อติดขัด และไม่มีส่วนที่แก้ไขเป็นสาระสำคัญ ทาง บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเป็นเรือไฟฟ้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้ทำการผลิตเรือไฟฟ้าต้นแบบเสร็จ และอยู่ในขั้นตอนทดลองวิ่งแล้ว ซึ่งจะเป็นเรือที่ให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งโดยสารและท่องเที่ยว โดยมีแผนการผลิต 45 ลำ

และวันนี้ (25 มิ.ย.) กรมเจ้าท่าได้ลงนามบักทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการผลิตเรือไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ และส่งเสริมการพาณิชยนาวี กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งได้ผลิตตัวเรือเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างติดแบตเตอรี่ โดยจะมีการเปิดตัวเรือต้นแบบในวันที่ 5 ส.ค.นี้ วันสถาปนากรมเจ้าท่าครบรอบ 161 ปี และจะทดลองแล่น ซึ่งเป็นเรือโดยสารและท่องเที่ยวในทะเล โดยมีต้นทุนราว 40 ล้านบาท

ขณะนี้สำนักมาตรฐานเรือ กรมเจ้าท่าได้ออกกฎข้อบังคับการตรวจเรือว่าด้วยเรือไฟฟ้าเสร็จแล้ว และได้เตรียมในการออกประกาศนียบัตรสำหรับนายท้ายเรือ เจ้าหน้าที่ประจำเรือ ส่วนสถานีประจุไฟฟ้านั้น ในช่วงเริ่มต้นเอกชนจะต้องลงทุนเองก่อน แต่ในอนาคตกรมเจ้าท่าจะเป็นหน่วยงานกลางเพื่อให้เป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าร่วมของทุกคนเพื่อลดต้นทุนของประเทศลงอีก

โดยเรือไฟฟ้ามีต้นทุนในการให้บริการต่ำกว่าเรือที่ใช้น้ำมันดีเซลจึงไม่กระทบต่อค่าโดยสาร และหากในอนาคตผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้ามากขึ้น จะต้องคิดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารสำหรับเรือไฟฟ้าใหม่ ซึ่งจะต้องรอดูประสิทธิภาพในการวิ่งและต้นทุนประกอบการอีกระยะ โดยเฉพาะราคาแบตเตอรี่ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มถูกลง

อย่างไรก็ตาม เรือรุ่นใหม่จะใช้วัสดุอะลูมิเนียม ซึ่งใช้เวลาต่อประมาณ 2 เดือน/ลำ และมีต้นทุนลดลงอย่างน้อย 25% เมื่อเปรียบเทียบกับเรือไม้ ทำให้โครงสร้างต้นทุนในการประกอบเรือลดลงไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น