xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “ดร.ปกรณ์” ผอ.GISTDA คนใหม่ ส่งเสริมลงทุนธุรกิจ-อุตสาหกรรมอวกาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศเช่นกัน โดยได้กำหนดให้อุตสาหกรรมอวกาศเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศ (New Engine of Growth) โดยมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศใหม่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอันจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และสร้างความมั่นคงทางสังคม GISTDA ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของภาคการผลิตดาวเทียมขนาดเล็ก (Smallsat) หรือดาวเทียมที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 500 kg ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบ Single และแบบ Constellation

ทั้งนี้ เนื่องจากข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต การขนส่ง การบำรุงรักษาระบบและความสามารถในการถ่ายภาพในพื้นที่เป้าหมายได้รวดเร็ว (Near Real-Time) ที่ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว GISTDA ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาคารประกอบและทดสอบดาวเทียม (Assembly Integration and Test : AIT) ตามมาตรฐานสากล ดำเนินการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชน สนับสนุนเงินทุนแก่บริษัท Startups เพื่อเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในรูปแบบ Public-Private Partnerships ให้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ GISTDA ยังพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขั้นแนวหน้า มุ่งเป้าวิทยาศาสตร์ระบบโลกและอวกาศ (Earth Space Science Frontier Research & Development & Innovation) เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยและบุคลากรของไทยได้เข้าร่วมโครงการด้านวิทยาศาสตร์ระบบโลกและอวกาศระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และการสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำไปต่อยอดทั้งในลักษณะการ Spin-off หรือจัดตั้ง Startup เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของชาติได้ เช่น การพัฒนาการวิจัยด้านอาหารและการเกษตรในอวกาศ การผลิตยารักษาโรคแบบใหม่ที่ต้องอาศัยสภาวะแรงโน้มถ่วงจากอวกาศ และการสร้างความปลอดภัยให้กับอวกาศไทย (Space Safety and Security) โดยผ่านความร่วมมือในรูปแบบ Space Consortium

ดร.ปกรณ์กล่าวต่อไปว่า GISTDA ยังมีแผนจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ระบบโลกและอวกาศในมหาวิทยาลัยภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้เป็นกลไกในการส่งเสริมองค์ความรู้และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ระบบโลกและอวกาศให้แก่ประชาชนและเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ผ่านกิจกรรมการจัดการแข่งขันสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก การส่งเสริมเยาวชนเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์ที่ใช้สำรวจอวกาศและการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศอื่นๆ ที่จะเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนต่อไปจะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศใหม่ของประเทศไทยอย่างเต็มกำลังนั้น

อย่างไรก็ตาม GISTDA ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและต่างประเทศ GISTDA พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็น Active Facilitator ที่สามารถทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนอย่างไร้ขีดจำกัด ในการเชื่อมประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อผลักดันการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของประเทศให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาระยะที่ 2 (ธีออส-2) ที่ประกอบด้วยการพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจทรัพยากรพร้อมระบบควบคุมภาคพื้นดิน ระบบ ActionableIntelligence Policy Platform (AIP) ระบบ Innovative Singularity Platform (ISP) การถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ การพัฒนาบุคลากรและการสร้างแผนธุรกิจเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจอวกาศในประเทศไทย GISTDA จะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงการเพื่อให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศต่อไป

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ กล่าวเสริมอีกว่า ทิศทางของ GISTDA จะพยายามมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ ในส่วน Upstream (การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ) ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น GISTDA มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศในส่วน Downstream หรือส่วนการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศด้วย โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้ประชาชน หน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วนมีโอกาสเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีอวกาศเพื่อใช้ประโยชน์ได้สะดวกมากขึ้น โดยใช้งบประมาณที่ต่ำลงหรือแม้กระทั่งเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (Space Tech & GIS for All)

ในช่วงที่ผ่านมา หลายภาคส่วนให้การยอมรับ GISTDA ในฐานะผู้นำในการผลิตข้อมูลและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของ GISTDA เช่น ระบบบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อการตัดสินใจแบบองค์รวม (G-MOS) เพื่อสนับสนุนการบริหารงานด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการเมืองและชุมชน การบริหารจัดการเกษตร และการบริหารจัดการภัยพิบัติ เหล่านี้ทำให้หน่วยงานระดับนโยบายมองเห็นภาพรวมของปัญหาและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุด GISTDA ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสภากาชาดไทย ในการพัฒนาระบบ COVID-19 IMAP เพื่อแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการบริหารสถานการณ์ COVID-19 ให้กับรัฐบาล รวมทั้งการมีส่วนร่วมเยียวยาประชาชนผ่านโครงการร่วมคืนป่าให้ประชาชนด้วยการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จาก COVID-19 อีกด้วย GISTDA จะยังคงรักษาบทบาทเดิมในการเป็นผู้นำด้านการผลิตข้อมูลและผลิตภัณฑ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ แต่จะขยายกลุ่มผู้ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศไปสู่ภาคสังคม ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเอกชนให้มากยิ่งขึ้น โดยจะพัฒนารูปแบบข้อมูลและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มนี้ เช่น พัฒนาข้อมูลและผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนธุรกิจการเกษตร ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม และธุรกิจการขนส่ง เป็นต้น ส่วนบทบาทที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐนั้น

นอกจากจะพัฒนาข้อมูลและผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของหน่วยงานแล้ว GISTDA จะทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยใช้ความสามารถของ Spatial Big Data Analytics เพื่อนำเสนอนโยบาย (Insight) ที่เหมาะสม อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และยั่งยืน รวมทั้งเสนอแนะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อตอบโจทย์ประเด็นท้าทายระดับประเทศและระดับโลก เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) การทำขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า แนวทางการดำเนินงานของ GISTDA ตามที่ได้กล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินงานที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570 โดย GISTDA จะเร่งเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศต่อไป ตลอดจนทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อก่อให้เกิดการ Co-creation ร่วมกันกับทุกภาคส่วน บนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศชาติที่มีอยู่มากมายหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น