ปตท.สผ.เล็งซื้อกิจการ (M&A) บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเป้าหมาย พร้อมปรับพอร์ตเพิ่มสัดส่วนก๊าซฯ จากเดิม 70% เป็น 80% พร้อมลุยโครงการ Gas to Power ในพม่าหลังรัฐบาลไฟเขียว
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมมองโอกาสการเข้าซื้อกิจการ (M&A) แหล่งปิโตรเลียมในกลุ่มประเทศเป้าหมาย หลังประเมินว่ามีบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ที่มีปัญหาสภาพคล่องอาจจะต้องขายธุรกิจออกมา นับเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปซื้อกิจการแหล่งปิโตรเลียม หลังผลกระทบโควิด-19 มีผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงแรงเหลือไม่ถึง 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วง เม.ย.ที่ผ่านมา
การตัดสินใจเข้าซื้อกิจการแหล่งปิโตรเลียมใหม่จะต้องอยู่ในประเทศภูมิภาคนี้ ทั้งไทย พม่า มาเลเซีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น โอมาน และยูเออี ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ มีแผนงานในปีนี้เน้นให้ความสำคัญต่อโครงการปิโตรเลียมที่มีอยู่ โดยเจาะหลุมสำรวจ เนื่องจากในปี 2562 บริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการโครงการของเมอร์ฟี่ออยล์ที่มาเลเซีย โครงการของพาร์เท็กซ์ที่มีแหล่งปิโตรเลียมอยู่ในโอมานและยูเออี รวมทั้งการได้สิทธิโครงการบงกชและเอราวัน
ส่วนความคืบหน้าการร่วมทุนโครงการใช้ก๊าซฯ ไปผลิตไฟฟ้า (Gas to Power) ในพม่า ขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานของพม่าได้พิจารณาขั้นตอนสุดท้าย และเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีประเทศพม่าเพื่ออนุมัติ หากรัฐบาลพม่าเห็นชอบโครงการดังกล่าวก็จะดำเนินการศึกษาด้านวิศวกรรมเบื้องต้นเพื่อประเมินงบการลงทุน และเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป โครงการ Gas to Power มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ ซึ่งลดลงจากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ 600 เมกะวัตต์ ซึ่งหลังจากผ่านพ้นการแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทฯ จะเร่งขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวนี้ต่อไป
นายพงศธรกล่าวต่อไปว่า ปตท.สผ.ตั้งเป้าหมายจะปรับพอร์ตสัดส่วนผลิตภัณฑ์หลักคือก๊าซธรรมชาติจากเดิม 70% เป็น 80% และน้ำมันดิบจากเดิม 30% ลดลงเหลือ 20% โดยปีนี้บริษัทซื้อประกันความเสี่ยงน้ำมันในปีนี้ไว้ 40% ขณะที่ปี 2562 บริษัททำประกันความเสี่ยงน้ำมันไว้ถึง 80% เนื่องจากปีนี้ราคาน้ำมันผันผวนหนัก ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกต่ำสุดปีนี้เห็นแล้วที่ 19 เหรียญ/บาร์เรล ตอนนี้อยู่ที่ราว 40 เหรียญ/บาร์เรล การซื้อประกันสูงอาจมีความเสี่ยง
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดโควิด-19 มีผลทำให้ราคาน้ำมันผันผวน ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินการ ทำให้ปริมาณการขายลดลง 7% จากเป้าหมายเดิม อย่างไรก็ตาม บริษัทมีต้นทุนดำเนินการที่ต่ำ โดยมีต้นทุนผลิตต่อหน่วย (unit cost) อยู่ที่ 31.71 เหรียญสหรัฐ และต้นทุนที่เป็นเงินสด (cash cost) อยู่ที่ประมาณ 15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ประกอบกับมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ก็เชื่อว่าบริษัทฯ สามารถบริหารจัดการได้ โดยราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานจะกระทบต่อปริมาณสำรองปิโตรเลียม เนื่องจากบริษัทจะชะลอการลงทุนหรืองดการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ก็อาจจะกระทบต่อปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทในอนาคต