ผู้จัดการรายวัน 360 - “ทีเส็บ” เผยมีงานไมซ์จ่อคิวจัดรวมกว่า 1,000 งานในช่วง พ.ค. 63-มี.ค. 64 รวมมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท จัดความพร้อมการจัดงานหลังคลายล็อก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานสัมมนารูปแบบการประชุมเสมือนจริง หัวข้อ “Post COVID 19 : ชีวิตวิถีใหม่ กับการจัดระเบียบและขับเคลื่อนสร้าง ความพร้อมกรุงเทพฯ และเมืองหลักเพื่อการจัดงาน” ว่า สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นับว่าเป็นความท้าทายของรัฐบาลทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องดูแลทั้งการระบาดของโรค และผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนไปพร้อมกัน ประเทศที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริงจึงไม่ใช่ประเทศที่หยุดการระบาดได้เท่านั้น แต่เป็นประเทศที่สามารถสร้างความสมดุลในการควบคุมการระบาดพร้อมกับการประคับประคองเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความปกติสุขที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ในวันที่โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
“ที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานทางด้านสาธารณสุข รัฐบาล และภาคเอกชน ต่างทำงานร่วมกันอย่างหนักเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และสามารถเริ่มผ่อนคลายมาตรการทางสังคมภาคบังคับ หรือ “มาตรการล็อกดาวน์บางส่วน” ไปได้ระดับหนึ่งแล้ว เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยยังคงมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง และมีมาตรการเยียวยาผลกระทบ จาก COVID-19 ที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่วิถีใหม่นี้ไปให้ได้”
โดยเฉพาะมิติด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการจัดงานและกิจกรรมไมซ์ รวมถึงส่งเสริมจัดทำแนวทางปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Venue Hygiene Guidelines) ส่วนด้านมิติฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเน้นส่งเสริมสาขาเศรษฐกิจที่มีความได้เปรียบอย่างธุรกิจไมซ์ที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างงานเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไมซ์และฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาเร็วที่สุด
นายอนุทินกล่าวว่า “ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์หลังโควิด-19 ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเป็นศูนย์กลางไมซ์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องถึง 3 ด้าน คือ ศูนย์กลางไมซ์และการท่องเที่ยวปลอดภัย ศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์กลางอาหารปลอดภัยของโลก ซึ่งไทยมีความพร้อม ทั้งด้านจุดหมายปลายทาง มาตรฐานทางด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงศักยภาพในการผลิตอาหารป้อนโลก โดยต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการทำธุรกิจให้มากขึ้นรับกับโลกตามวิถีใหม่”
ด้านนางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวเสริมว่า “ทีเส็บดำเนินการสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริม และฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์อย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุนให้สถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐานประเทศไทย (Thailand MICE Venue Standard - TMVS) ยกระดับมาตรฐานด้านสาธารณสุขให้กับสถานที่จัดงานเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้จัดงาน และผู้ใช้บริการ, การสนับสนุนการใช้งานระบบการจัดงานออนไลน์ เช่น Webinar เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ และบุคลากรด้านไมซ์นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการจัดงาน และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร TCEB Covid-19 Center เพื่อสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ”
“วันนี้แนวทางขับเคลื่อนฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ คือร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเร่งเดินหน้ากระตุ้นการจัดงานไมซ์ในประเทศ ทั้งการจัดประชุมสัมมนาและงานแสดงสินค้าตามแนวทางการผ่อนปรนของรัฐบาล โดยเบื้องต้นมุ่งเน้นส่งเสริมการจัดงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้จัดประชุมสัมมนาในโรงแรมสถานที่จัดงานที่มีมาตรฐาน และจัดงานแสดงสินค้าในพื้นที่ไม่เกิน 20,000 ตารางเมตร โดยเริ่มจากเมืองไมซ์ที่มีความพร้อมตามหลักปฏิบัติทางด้านสาธารณสุขก่อน ซึ่งได้เตรียมความพร้อมบุคลากรประจำสำนักงานทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อลงทำงานเชิงรุกกระจายในแต่ละพื้นที่ร่วมกับจังหวัด สมาคม หน่วยงานและผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ”
ทั้งนี้ จากข้อมูลระบุว่า ในช่วงตั้งแต่พฤษภาคม 2563-มีนาคม 2564 มีงานต่างๆ ที่รอการจัดเกือบ 1,000 งาน ที่มาจากการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมา จากการสอบถามโรงแรมและศูนย์การประชุมต่างๆ ทั่วประเทศ
สำหรับจำนวนงานไมซ์ (MICE) ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563-มีนาคม 2564 มีประมาณ 938 งาน แบ่งเป็น งานประชุมสัมมนา 374 งาน หรือสัดส่วน 40%, งานคอนเวนชัน จำนวน 73 งาน สัดส่วน 8%, งานเอ็กซิบิชัน จำนวน 312 งาน สัดส่วน 33% และงานอีเวนต์ จำนวน 179 งาน สัดส่วน 19%
ส่วนจำนวนผู้เข้าร่วมงาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563-มีนาคม 2564 ประมาณการไว้ที่ 7,391,300 คน โดยแบ่งเป็น งานประชุมและสัมมนา จำนวน 174,800 คน สัดส่วน 2%, งานคอนเวนชัน จำนวน 76,447 คน สัดส่วน 1%, งานเอ็กซิบิชัน จำนวน 6,150,000 คน สัดส่วน 83% และงานอีเวนต์ จำนวน 990,053 คน สัดส่วน 14% คิดเป็นมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท โดยคำนวณค่าใช้จ่ายต่อหัวคนละ 5,000 บาทต่อวัน ประกอบด้วย ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเข้าร่วมงาน เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศในปี2562 ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำนวนมาก โดยมีรายได้จากนักเดินทางจำนวน 210,000 ล้านบาท ส่งผลต่อรายได้ทางเศรษฐกิจรวม 559,840 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดไมซ์ในประเทศไทย มูลค่า 279,330 ล้านบาท และตลาดไมซ์จากต่างประเทศ มูลค่า 280,510ล้านบาท สามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 39,130 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 321,918 คนเฉพาะในอุตสาหกรรมไมซ์