xs
xsm
sm
md
lg

“อธิรัฐ” เบรก กทท.ตั้ง บ.ลูกบริหารทรัพย์สิน ชี้ยังไม่จำเป็น-ยันไม่มีแปรรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
“อธิรัฐ” เบรก กทท.ตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน ชี้ยังไม่มีความจำเป็น มั่นใจศักยภาพพัฒนาพื้นที่ 2 พันไร่เอง ขณะที่สหภาพ กทท.ตบเท้าเข้าพบ หวั่นมีแฝงแปรรูปองค์กร พร้อมสั่งเดินหน้าเปิดท่าเรือคลองใหญ่ เปิดกว้างร่วมทุนเอกชนทุกรูปแบบ

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย (สร.กทท.) เข้าพบวันที่ 1 มิ.ย. ว่าสหภาพฯ มีความกังวลในเรื่องการแปรรูป กทท. จากที่จะมีการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินเชิงพาณิชย์ ผลกระทบด้านสวัสดิการต่างๆ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community และการบริหารและประกอบการท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งประเมินว่าจะมีผลขาดทุน

ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) นั้น ตามการศึกษาซึ่งบริษัทที่ปรึกษาเสนอรูปแบบการตั้งบริษัทลูกนั้น ตนยืนยันว่าไม่มีนโยบายในการตั้งบริษัทลูก ซึ่งได้มอบนโยบายไปที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.แล้ว โดยเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งบริษัทลูก เพราะ กทท.มีศักยภาพในการดำเนินการพัฒนาเองได้

“ผลศึกษาสรุปแล้ว มีการเสนอบอร์ด กทท.ซึ่งรับทราบ แต่ยังไม่ได้มีการมติอนุมัติให้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกใดๆ ประมาณเบรกไว้ก่อนเพราะเรื่องนี้มีรายละเอียดต้องพิจารณาอีกมาก ดังนั้นพนักงานไม่ต้องกังวล”

โครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) (Bangkok Port Redevelopment Project) มีพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ โดยการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่โซน A พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม พื้นที่โซน B พัฒนาธุรกิจหลักที่ให้บริการเรือและสินค้าของ ทกท. และพื้นที่โซน C พัฒนาเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่รองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่าเรือ (Modern Port City)

สำหรับการบริหารท่าเรือคลองใหญ่นั้น นายอธิรัฐกล่าวว่า ได้ให้นโยบาย กทท.เปิดให้บริการได้อย่างเร็วภายในปลายปี 2564 ซึ่งแนวทางในการบริหารนั้น นโยบายนั้นเปิดกว้างในรูปแบบ ทั้งการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหาร (PPP) หรือเช่าช่วงพื้นที่ย่อยๆ ไปบริหาร และไม่จำกัดรูปแบบว่าจะต้องเป็นท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้าเท่านั้น สามารถเป็นท่าเรือท่องเที่ยว หรืออื่นๆ ได้ ซึ่ง กทท.ต้องไปศึกษารูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะผสมกันได้ เป้าหมายเพื่อให้เปิดใช้ท่าเรือได้ก่อน ในระยะแรก ให้ท่าเรือเกิด เพราะก่อสร้างเสร็จนานมากกว่า 5 ปีแล้ว ปล่อยร้างไปอีก ทรัพย์สินมีแต่เสื่อมโทรม จึงอยากให้พยายามเปิดให้ได้ก่อน

“หลักๆ อยากให้ดึงเอกชนเข้ามาบริหาร หรือเช่าพื้นที่บริหาร จาก กทท.แบบไหนก็ได้ ซึ่งตอนนี้ทั้งฝ่ายบริหาร สหภาพฯ เห็นตรงกันว่าควรเปิดกว้าง เพราะประเด็นอยู่ที่การหาเอกชนเข้ามาลงทุน จะต้องสร้างแรงจูงใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้หารือกับกรมธนารักษ์ปรับลดอัตราค่าเช่าแล้ว แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อคือ ระเบียบในการเช่าช่วงต่อ เพื่อลดขั้นตอนให้มีความคล่องตัวในส่วนของราชการมากขึ้นและเพื่อให้จูงใจเอกชนเข้ามาดำเนินการได้ง่ายขึ้น เพราะตอนนี้มี ท่าเรือ ส.กฤตรวัณ ท่าเรือชลาลัย เอ็นของเอกชน บริการขนส่งสินค้าประเภทบรรจุหีบห่อ มีกลุ่มลูกค้าที่จำกัด ปริมาณสินค้าน้อย การที่ท่าเรือคลองใหญ่จะเปิดขึ้นอาจทำให้ไม่คุ้มค่า ขอให้มีการผ่อนปรนอัตราภาระ ค่าเช่าพื้นที่ หากมีการโปรโมชัน ให้การผ่อนปรนในอัตราภาระ อาจทำให้เอกชนสนใจมาใช้ท่าเรือฯ ได้”






กำลังโหลดความคิดเห็น