"สุริยะ" มอบนโยบาย "ธพว." อนุมัติสินเชื่อกว่า 4 หมื่นล้านบาทช่วยเอสเอ็มอี 24,000 กิจการพลิกฟื้นธุรกิจหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย พร้อมขยายเวลาพักชำระหนี้เงินต้นเป็น 2 ปี และขยายสัญญาเงินกู้เป็น 5-10 ปี หวังช่วยขับเคลื่อน ศก.
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงาน "เติมพลัง SMEs ไทยก้าวไปด้วยกัน" ว่า ได้มอบนโยบายธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เร่งดูแลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการเดินหน้าเติมทุนสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้เอสเอ็มอีทุกกลุ่มธุรกิจทั่วประเทศ มีเงินทุนไปหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง จ้างงาน และฟื้นฟูธุรกิจให้กลับคืนมาสามารถดำเนินการได้ดีอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะอนุมัติสินเชื่อได้กว่า 40,000 ล้านบาทช่วยเอสเอ็มอีได้ราว 24,000 กิจการ รวมถึงการพักชำระหนี้เงินต้นให้ลูกค้าเดิมเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี จากเดิม 6 เดือน และให้ขยายระยะเวลาสัญญาเงินกู้จากเดิม 5-7 ปี เป็น 5-10 ปี เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเวลาปรับตัว
"การพักชำระหนี้เงินต้นและขยายการคืนเงินกู้ก็จะทำให้เอสเอ็มอีที่มีผลกระทบสามารถประคองตัวเองอยู่ได้ก่อนเบื้องต้น จากนั้นก็จะมีการเติมเงินอัดฉีดเสริมสภาพคล่องที่ ธพว.มีโครงการต่างๆ คาดว่าจะอนุมัติสินเชื่อได้กว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยรักษาการจ้างงานประมาณ 120,000 ราย สร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจประมาณ 90,000 ล้านบาท" นายสุริยะกล่าว
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. กล่าวว่า ธพว.ได้ดำเนินมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้ชื่อมาตรการ "ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม" โดย ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มีเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่มาตรการแล้ว 9,458 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 14,924.63 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบทางตรง 4,892 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,082 ล้านบาท และกลุ่มได้รับผลกระทบทางอ้อม 4,566 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,842.63 ล้านบาท อีกทั้งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 พ.ค. 2563 ธพว.ได้เติมทุนช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้วจำนวน 3,329 ราย วงเงินรวม 6,231.31 ล้านบาท
นอกจากนั้น ธพว.ยังช่วยเหลือลูกค้าลดภาระค่าใช้จ่ายตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ สูงสุด 6 เดือน ให้ลูกค้าทุกรายที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยมีลูกค้า ธพว.ได้รับการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติจำนวน 43,215 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 66,479 ล้านบาท รวมถึงการพักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 12 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กลุ่มเป้าหมายประมาณ 10,000 ราย ภาระหนี้รวม 11,800 ล้านบาท นับตั้งแต่เปิดรับคำขอเข้าร่วมโครงการเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นับถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมามีลูกค้ากองทุนประชารัฐเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2,961 ราย วงเงินประมาณ 5,516 ล้านบาท
น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ธพว.ฝ่ายสินเชื่อเร่งพบและหารือกับผู้ประกอบการเพื่อที่จะสอบถามถึงความเดือดร้อนโดยเฉพาะลูกหนี้เดิมเองก็จะต้องมาปรับโครงสร้างหนี้ด้วย โดยจะพยายามให้ความช่วยเหลือให้ถึงเอสเอ็มอีให้มากสุด นอกจากด้านการเงินแล้วยังมุ่งเติมความรู้ควบคู่ไปด้วยเสมอ เพื่อจะเสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวก้าวฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ เช่น "วัคซีนเติมความรู้" อบรมออนไลน์ ด้วยหลักสูตรเรียนรู้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ wdev.smebank.co.th
โครงการ One Hero One Community สร้างผู้ประกอบการ hero ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยจ้างนักศึกษาจบใหม่หรือแรงงานที่กลับบ้านเกิดให้มีงานทำ โดยอบรมให้เป็นผู้ประสานกับวิสาหกิจชุมชนในการยกระดับสินค้าและบริการเป้าหมาย 1,000 สินค้า 1,000 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 15-20%
นอกจากนั้น ธพว.ยังดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือดูแลสังคมไทย ด้วยการเปิด “ตู้ปันสุข ธพว.” ตั้งตู้รับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง และของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จำนวน 2 ตู้ ด้านหน้าอาคาร SME Bank Tower สำนักงานใหญ่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน อีกทั้งส่งมอบอุปกรณ์ เช่น น้ำดื่ม หน้ากากผ้า Face shield และเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น ให้แก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นเสบียง รวมถึงใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงให้แก่เจ้าหน้าที่ กทม. ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครจากมูลนิธิต่างๆ