รฟม.ปรับโครงสร้างใหม่ยุบทิ้ง TOD และ ธุรกิจเดินรถ เหตุพัฒนาพื้นที่ติด กม.เวนคืน และหมดหวังเดินรถเอง หลังนโยบายมุ่ง PPP หัน ยกระดับงานสื่อสาร ขึ้นตรงผู้ว่าฯ ลุยยุคเทคโนโลยีรวดเร็ว
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประะทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม.ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยยุบฝ่ายพัฒนาพื้นที่ (TOD) และสำนักธุรกิจรถไฟฟ้า และมีการยกระดับสำนักการสื่อสารองค์กร จากระดับกอง อยู่ในขึ้นเป็นระดับฝ่าย ขึ้นตรงกับผู้ว่าฯรฟม.ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สอดรับกับแนวโน้มในปัจจุบันที่ต้องเน้นเรื่องเทคโนโลยีการตอบสนองข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว และรองรับภารกิจที่จะต้องรับผิดชอบดำเนินการในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด และยังสอดรับ นโยบายรัฐบาลในเรื่องศูนย์ราชการสะดวก ตามพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกประชาชนในการติดต่อราชการ อีกด้วย
ทั้งนี้ ฝ่ายพัฒนาพื้นที่ (TOD) จัดตั้งขึ้นสมัย นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล เป็นผู้ว่าการรฟม. เมื่อปี2557 โดยมีวัตถุประสงค์รับผิดชอบดูแลโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวสายทางและพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า เพื่อสร้างรายได้เพิ่มมาสนับสนุนกิจการเดินรถ แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่สามารถดำเนินการจริงตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากติดขัดกฏหมายเวนคืน ที่ยังไม่สามารถนำที่ดินมาพัฒนาได้.และยังไม่เห็นโอกาสที่จะทำได้ตามวัตถุประสงค์ จึงปรับเปลี่ยนบทบาท จึงยุบสำนักพัฒนาพื้นที่ และโอนพนักงานส่วนหนึ่งให้ไปรวมกับฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ที่รฟม.ยังสามารถดำเนินการได้ และบางส่วน กระจายไปตามผ่ายงานต่างๆ
ส่วนสำนักธุรกิจรถไฟฟ้านั้น เดิมตั้งขึ้นเพื่อรองรับการที่รฟม.จะเดินรถไฟฟ้าเอง อย่างน้อย 1 สาย แต่ปัจจุบัน รัฐบาลเน่นนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในการเดินรถ (PPP) ซึ่งเป็นแนวทางที่ลดภาระการเงินของประเทศ ดังนั้นโอกาสที่รฟม.จะเดินรถเองจึงน้อยมาก หน่วยงานจึงไม่มีความจำเป็นอีก โดยสำนักธุรกิจรถไฟฟ้า เป็นโครงสร้างที่ยังไม่มีพนักงาน จึงไม่มีผลกระทบในการยุบ
“ทิศงทางในการดำเนินงานของรฟม.ไม่ได้เปลี่ยน แต่เป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ทั้ง2 ส่วนงานนี้ตั้งมาตั้งแต่ปี 57 ผ่านมา 6 ปีแล้ว ยังไม่มีการดำเนินการ และแนวโน้มโอกาสที่จะเกิดเนื้องานก็เป็นไปได้น้อย จำเป็นต้องปรับเพื่อโยกคนไปทำงานอื่นแทน”
รายงานข่าวแจ้งว่า แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง, รถไฟฟ้า (Transit Oriented Development : TOD) หลายประเทศประสบความสำเร็จ ทำรถไฟฟ้าไม่ขาดทุนแถมมีรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มหาศาล เช่น รถไฟฟ้าญี่ปุ่น และ ฮ่องกง มีการออกแบบรถไฟฟ้าและการพัฒนาพื้นที่ไปพร้อมๆ เช่น ฮ่องกงมีการพัฒนา 2 สถานี สามารถมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นค่าก่อสร้างโครงการได้ตลอดสาย