xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกจี้ ”บิ๊กตู่” เร่งฝ่าวิกฤต ยื่น 4 แผนหลักฟื้นฟูด่วน โควิดพ่นพิษวูบ 50%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ค้าปลีกระทม โควิด-19 เล่นงานจนอ่วม ยังกระทบต่อเนื่องคาดไตรมาส2ภาพรวมยังวูบถึง 50% ยื่นข้อเสนอถึง ”บิ๊กตู่” เร่งงัดมาตรการมาช่วยเหลือแก้ปัญหาภาคค้าปลีกอย่างเร่งด่วนด้วย 4 ข้อหลัก หวังฟื้นฟูค้าปลีกและเศรษฐกิจรวม

ปฎิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจค้าปลีก คือ หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักหน่วงไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่นอกจากมีผลกระทบโดยตรงกับตัวผู้ประกอบการค้าปลีกเองแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเนื่องถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมาก

โดยเฉพาะจากการที่ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทุกแห่งต้องปิดบริการชั่วคราว จากมาตรการของภาครัฐในการต่อสู้กับโควิด-19 ยิ่งส่งผลกระเทือนอย่างสาหัส

จากข้อมูลของศูนย์ ECONOMIC INTELLIGENCE CENTER (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า ตลาดค้าปลีก 2563 จะหดตัวราว 14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปราว 5 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2562 ที่อยู่ราว 3.5 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม ทว่าภาพรวมเศรษฐกิจกลับยังไม่กระเตื้อง และค้าปลีกก็เพิ่งกลับมาเปิดใหม่อีกรอบแต่ทุกอย่างก็เป็นนิวนอร์มัลไปแล้ว



ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกในนามของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า มีความเหมาะสมและน้ำหนักในระดับหนึ่งที่จะเป็นเสมือนตัวแทนของอุตสาหกรรมนี้ได้ มีโอกาสพบปะกับ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เพื่อรับฟังสถานการณ์ และข้อเสนอแนะจากกรรมการสมาคมฯ ซึ่งธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจสำคัญที่ได้รับผลกระทบ และมีแรงงานในภาคธุรกิจค้าปลีกและแรงงานที่เกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนมาก โดยมีนายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และผู้บริหารระดับสูงจากห้างค้าปลีกและศูนย์การค้าชั้นนำของไทยเข้าร่วมประชุมหารือ

แต่ละคนก็ล้วนระดับบิ๊กของวงการทั้งสิ้น เช่น
ญนน์ โภคทรัพย์ จากเซ็นทรัลกรุ๊ป., วัลยา จิราธิวัฒน์ จากซีพีเอ็น, ศุภลักษณ์ อัมพุช จากเดอะมอลล์กรุ๊ป, คุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล จากโฮมโปร, วิภาดา ดวงรัตน์ จากบิ๊กซี, พิทยา เจียรวิสิฐกุล จากเครือซีพี, สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย จากเทสโก้โลตัส โดยมี ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย นำเสนอข้อมูลต่างๆ

ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ระดับนายกรัฐมนตรีจะมาเยือนถึงถิ่นที่ทำการของสมาคมฯหรือแทบจะไม่เคยมีปรากฏมาก่อนด้วยซ้ำไป
ทั้งนี้สาระสำคัญที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทย นำเสนอจึงเป็น นโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศของสมาชิกสมาคมและภาคีเครือข่ายค้าปลีกต่างจังหวัด ปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในอีก 8-24 เดือน เพื่อให้ประเทศชาติฟื้นคืนสู่ภาวะปกติและก้าวสู่การเติบโตตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี ประกอบด้วย


สมาคมผู้ค้าปลีกไทย นำเสนอว่า ตัวเลขดัชนีค้าปลีก ที่ออกมาในไตรมาสที่ 1 ปี2563นี้ จะไม่ใช่ตัวเลขที่ต่ำที่สุด แต่จะอยู่ในไตรมาสที่ 2โดยรวมในไตรมาสหนึ่งลดลงกว่า 3%-7% และในไตรมาสสองจะเห็นการเติบโตติดลบมากถึง 20%– 50% ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกในย่านเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงร้านค้าปลีกแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ได้รับผลกระทบมากที่สุด จนเมื่อมาตรการผ่อนคลายความเข้มข้น ธุรกิจค้าปลีก คาดว่าจะเริ่มทรงตัว แต่การเติบโตก็ยังไม่เหมือนเดิม คาดว่ายังคงติดลบมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสสามของปีที่แล้ว

สมาคมฯคาดว่า ธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้า จะพลิกฟื้นกลับมาจุดเดิมคงต้องใช้เวลา 8-24 เดือน หลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวมากหรือน้อย

สำหรับแนวทางในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวมนั้น สมาคมฯก็มีนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID – 19 ดังนี้
1. การจ้างงาน วิกฤติครั้งนี้สร้างผลกระทบต่อแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ที่มากสุดก็คือ ภาคบริการ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สมาชิกสมาคมฯ และศูนย์การค้า รวมถึงเครือข่ายภาคีค้าปลีกต่างจังหวัดมีมติให้คงการจ้างงานที่มีอยู่ 1.1 ล้านคน และจะไม่มีการเลิกจ้างแต่อย่างใด

2. การสร้างงาน สมาชิกสมาคมฯ ที่ดำเนินธุรกิจศูนย์การค้ากว่า 100 ศูนย์การค้า รวมทั้งพื้นที่การค้าใน Hypermarket อีกกว่า 350 สาขา จะจัดสรรพื้นที่ให้กลุ่มอาชีพอิสระและแรงงานพาร์ทไทม์ มาจำหน่ายสินค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งสมาคมฯ เชื่อว่าจะสามารถสร้างงานเพิ่มขึ้นอีก 120,000 อัตรา

3. เพิ่มรายได้ ธุรกิจค้าปลีกมีการซื้อสินค้าจากกลุ่มกลุ่มเกษตรกรโดยตรงปีละ 1.8 หมื่นล้านต่อปี สมาชิกของสมาคมฯ จะเพิ่มการซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาทต่อปี

4. ลดภาระค่าครองชีพ สมาชิกสมาคมฯ และเครือข่ายค้าปลีกต่างจังหวัดกว่า 57 แห่ง มีความเห็นร่วมกันที่จะตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนกว่า 50,000 รายการ ตลอดปี



ที่สำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้คือ การนำเสนอถึงผลกระทบของ COVID – 19 ของภาคธุรกิจค้าปลีกว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ผลกระทบของ COVID – 19 ต่อเศรษฐกิจโลกแตกต่างกว่าวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ วิกฤต COVID – 19 เป็นการดหยุดชะงักอย่างฉับพลัน (sudden stop) ของเศรษฐกิจทั่วโลก จากปัญหาโรคระบาที่ทำให้เกิดช็อคต่อเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทานผ่านการเจ็บป่วยของผู้คนและมาตรการควบคุมโรค เช่น การปิดเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิต ขนส่ง และจำหน่ายสินค้า และด้านอุปสงค์ผ่านรายได้

ที่ลดลง ความหวาดกลัวต่อการติดโรค และความเชื่อมั่นที่ลดลงกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจค้าปลีกที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากการ Lock Down ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่บันเทิงพักผ่อนคลายร้อน ร้านอาหาร ภัตตาคาร ที่ชัดเจน

1. ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการหยุดชะงัก ส่งผลขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
2. ผู้ประกอบ SME และเกษตรกรกว่า 400,000 ราย ซึ่งเป็นห่วงโซ่ขาดรายได้ ส่งผลกระทบต่อหนี้ทางธุรกิจ ธุรกิจจะฟื้นคืนกลับมาสู่จุดเดิมต้องใช้เวลา 8-24 เดือน
3. ภาวะการว่างงานและการจ้างงานไม่เต็มอัตราเป็นจำนวนมากซึ่งคาดว่าจะมีกว่า 3-5 ล้านคน


ตามด้วยข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในระยะสั้น ประกอบด้วย
1.การอนุมัติ Soft Loan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก เพิ่มสภาพคล่องแก่วิสาหกิจ SME และ เกษตรกร ด้วยการอนุมัติ Soft loan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ของหลายคน แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และตรงเป้าที่สุด ธุรกิจค้าปลีกเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มใหญ่ที่เชื่อมต่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เกษตรกร สู่ผู้บริโภค การพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการกว่า 400,000 ราย ผ่านแพลตฟอร์มกลุ่มธุรกิจค้าปลีก การพิจารณา Soft Loan ให้กับผู้ประกอบการผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก จะเป็นช่องทางที่จะถึงมือผู้ประกอบการโดยตรงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2.ช่วยเหลือค่าครองชีพแก่แรงงานภาคค้าปลีกและบริการ
-ผ่านระบบประกันสังคม โดยเสนอให้ขยายมาตรการเยียวยาในระบบประกันสังคมให้ยังได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิประกันสังคมต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี พ.ศ.2563
-ผ่อนผันให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อแรงงานมีความยืดหยุ่นในการเพิ่มรายได้

3.กระตุ้นแคมเปญการจับจ่ายและการบริโภค
- เสนอให้นำโครงการ “ช้อป ช่วย ชาติ” กลับมาสามารถช้อปได้ทุกสินค้า โดยมีวงเงิน
5 หมื่นบาท ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงธันวาคม
- ผลักดันโครงการ “ไทยเที่ยวไทย ไทยช้อปไทย” เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ



4.มาตรการช่วยลดต้นทุน และเสริมสภาพคล่องธุรกิจค้าปลีก
4.1 พิจารณาเลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลในงวดครึ่งปีหลังของปี 2562
4.2 พิจารณาลดภาษีนิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 เป็นเวลา 3 ปี
4.3 พิจารณายกเว้นภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ประจำปี 2563 - 2564
4.4 พิจารณาให้นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการยกระดับสาธารณสุขเพื่อให้อาคารสถานที่ปลอดจากเชื้อไวรัส COVID - 19 มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า
4.5 พิจารณาปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในส่วนนายจ้างจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนธันวาคม 2563
4.6 พิจารณาลดอัตราค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ลงอย่างน้อยร้อยละ 15 จากอัตราปกติเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี
4.7 พิจารณาให้นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อสร้าง Digital Infrastructure เพื่อสร้าง Ecosystem สู่การ Work from Home และe-commerce ตามนโยบาย Thailand 4.0 มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า


สำหรับนโยบายของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตลอดมา มุ่งเน้นพัฒนา SME พัฒนามาตรฐานบุคคลากรวิชาชีพ
1.พัฒนาวิสาหกิจ SME ส่งเสริมและยกระดับการประกอบวิสาหกิจการค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมุ่งเน้นในส่วนของ SME วิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม
2.พัฒนามาตรฐานบุคลากรค้าปลีก ผนึกกำลังภาคค้าปลีกร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเบื้องต้น 7 อาชีพ เพื่อพัฒนามาตรฐานบุคลากรค้าปลีกและสมาคมฯ โดยได้รับการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ
3.พัฒนามาตรฐานครูสถานศึกษา นักศึกษา ผ่านกลไกคณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชนเพื่อพัฒนาอาชีวะศึกษา (กรอ.อศ) พัฒนาครูสถานการศึกษา นักศึกษา และ หลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ Thailand 4.0
4.พัฒนา “ดัชนีค้าปลีก” ประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย พัฒนา “ดัชนีค้าปลีก” โดยให้มีการรายงานเป็นรายเดือน เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดการบริโภคค้าปลีกภายในประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐในการกำหนดทิศทาง และนโยบายการบริโภคภายในประเทศได้อย่าง
มีประสิทธิภาพ และเป็นปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะสามารถประกาศเป็นดัชนีสำคัญเพิ่มอีกหนึ่งดัชนี ภายในไตรมาสสี่ ของปี 2563

อย่างไรก็ตาม ในการพบกันครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ได้ขอบคุณสมาชิกสมาคมฯ ศูนย์การค้า และภาคีเครือข่ายค้าปลีกต่างจังหวัดทุกท่าน ที่ได้พยายามดูแลแรงงานของประเทศ รวมถึงการควบคุมราคาสินค้าเพื่อช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งสมาชิกสมาคมฯ มองเห็นปัญหา สนับสนุนการช่วยเหลือครบทั้งห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นไปในทิศทางการขับเคลื่อนมาตรการของรัฐ
โดยมั่นใจว่าแรงสนับสนุนจากผู้ค้าปลีกและศูนย์การค้า จะเป็นอีกหนึ่งแรงกำลังสำคัญภาคส่วนของสังคม ช่วยกันนำพาประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราให้ผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้.






กำลังโหลดความคิดเห็น