กนอ.เผยแผนรับมือวิกฤตแล้งในอนาคตด้วยการจัดตั้งบริษัทลูกร่วมลงทุนเอกชน สร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเลที่มีกำลังการผลิต 3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ช่วยป้อนน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมช่วงขาดแคลนน้ำ คาดได้ข้อสรุป 2-3 เดือน
น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า กนอ.ได้เตรียมแผนสร้างโรงงานน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืดโดยเป็นการตั้งบริษัทร่วมทุนกับภาคเอกชน ซึ่งการผลิตน้ำดังกล่าวจะช่วยป้อนน้ำให้แก่โรงงานในช่วงที่มีปัญหาภัยแล้ง ทำให้สร้างความมั่นใจว่าจะมีน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน
“การตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่มาบตาพุด จากการพิจารณาเบื้องต้นจะมีต้นทุนการวางท่อส่งน้ำต่ำกว่าการวางท่อส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ไกล คาดว่าโครงการนี้จะมีความชัดเจนภายใน 2-3 เดือนนี้” น.ส.สมจิณณ์กล่าว
ปัจจุบันโรงงานขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหลายรายมีโรงงานผลิตน้ำจืดของตัวเองแล้ว แต่โครงการนี้จะช่วยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของราคาขายของน้ำจืดจะทำการตกลงกับผู้ประกอบการก่อนเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระที่สูงจนเกินไป และจะเป็นหลักประกันสำคัญให้แก่โรงงานว่าจะมีน้ำใช้อย่างแน่นอนไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรในระยะยาว
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ภาคอุตสาหกรรม และ กนอ.จัดทำแผนการจัดหาน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องรบกวนน้ำจากภาคการเกษตร และให้เร่งดำเนินการ 3Rs ได้แก่ ลดการใช้น้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และการปรับปรุงน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำให้มากที่สุด
ปัจจุบันพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 34 แห่ง แบ่งเป็นในจังหวัดระยอง 15 แห่ง ชลบุรี 15 แห่ง และฉะเชิงเทรา 4 แห่ง โดยแหล่งน้ำหลักที่ใช้ในพื้นที่ขณะนี้รับมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ส่วนแหล่งน้ำสำรองมาจากบ่อน้ำในนิคมอุตสาหกรรมและภาคเอกชน