"กนอ." ยืนยันน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดระยองยังมีน้ำต้นทุนเพียงพอใช้งานในภาคอุตสาหกรรมจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งนี้ พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกปรับลดการใช้น้ำลงให้ได้ 10% ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อให้ไม่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไป จากการตรวจสอบปริมาณน้ำทั้ง 4 อ่างเก็บนํ้าหลัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีปริมาณน้ำต้นทุนที่ได้มาจากการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์และปริมาณน้ำฝนที่จะไหลเข้าอ่าง คาดการณ์ ณ กลางเดือนเมษายนมีปริมาณน้ำประมาณ 93.9 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนการใช้น้ำอยู่ที่ประมาณ 88.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้มีน้ำต้นทุนคงเหลือประมาณ 13.6 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย กนอ.เชื่อว่าจากปริมาณน้ำดังกล่าวจะทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้งานไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งในช่วงเดือนมิถุนายนนี้อย่างแน่นอน
ส่วนกรณีการขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมไออาร์แอล และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ในการปรับลดปริมาณการใช้น้ำร้อยละ 10 นั้น ปัจจุบันเนื่องจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ได้ปิดซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับผู้ประกอบกิจการ (Shutdown/Turnaround) เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเริ่มเปิดเดินเครื่องการประกอบกิจการในช่วงเดือนมีนาคม จึงทำให้ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากโควตาที่ได้รับ แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 จะพบว่ามีการใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมลดลง
“เมื่อโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้กลับมาเริ่มเดินเครื่องประกอบกิจการตามปกติ เป็นผลให้ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ใช้น้ำอยู่ที่ 356,289 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เดือนมีนาคมใช้น้ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 392,205 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 35,916 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 10% แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2562) ที่มีปริมาณการใช้น้ำอยู่ที่ 404,267 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะเห็นว่ามีปริมาณการใช้น้ำที่ลดลง ซึ่งเป็นความร่วมมือของ กนอ.และผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่ในการปรับลดปริมาณการใช้น้ำลง 10% ตามแผนที่ได้วางไว้ อย่างไรก็ตาม กนอ.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามแผนการลดปริมาณน้ำต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤตแล้งในครั้งนี้ไปให้ได้” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว