xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” จับมือเอกชนทำแผนผลักดันส่งออกไก่ช่วงวิกฤตโควิด-19 คาดทำรายได้กว่า 1.4 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” ถกร่วมภาครัฐและเอกชนติดตามสถานการณ์การผลิตและส่งออกไก่ เผยปีนี้ผลิตได้ 2.86 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 60% ส่งออก 40% เตรียมใช้วิกฤตโควิด-19 เพิ่มยอดส่งออก ตั้งเป้าลุยขยายตลาดเดิม 8 ประเทศ บุกเจาะตลาดใหม่ 19 ประเทศ พร้อมเร่งปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่ คาดทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัท คาร์กิลล์ และบริษัท จีเอฟพีที เป็นต้น ว่า ได้ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างภาครัฐ ผู้ผลิตผู้ส่งออก และเกษตรกร เพื่อประเมินสถานการณ์การผลิตและการส่งออก กำหนดแนวทางการบริหารการตลาด และการผลักดันการส่งออกสินค้าไก่ของไทย เพราะกระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลการบริโภคในประเทศให้เพียงพอ และสนับสนุนการส่งออกให้สอดคล้องกับการผลิต เพื่อร่วมกันพลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส ในการทำรายได้ให้แก่ประเทศให้ได้มากที่สุด จึงต้องมาหารือร่วมกัน และพิจารณาดูว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรต่อไป

สำหรับผลการหารือครั้งนี้ ในด้านการผลิต ไทยสามารถผลิตไก่ได้ประมาณ 2.86 ล้านตันต่อปี เป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับที่ 8 ของโลก แต่สามารถส่งออกได้เป็นลำดับที่ 4 ของโลก โดยสัดส่วนการผลิต 100% แบ่งเป็นเพื่อการบริโภคในประเทศ 60% และเพื่อการส่งออก 40% ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาส่งออกได้ 9.2 แสนตัน มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท และในช่วง 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ส่งออกได้ 2.3 แสนตัน มูลค่า 2.68 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% มีตลาดสำคัญ คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ส่วนการส่งออก เห็นว่าจะผลักดันให้ส่งออกเพิ่มขึ้นได้ โดยจะทำตลาดเป็น 2 ส่วน คือ การรักษาตลาดเดิม 8 ประเทศที่มีการนำเข้าไก่จากไทยอยู่แล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง ไอร์แลนด์ แคนาดา เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ และขยายตลาดใหม่ 19 ประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดต่ำ และปัจจุบันมีการนำเข้าไก่จากประเทศอื่นสูงกว่าไทย ได้แก่ สหรัฐฯ เบลเยียม เดนมาร์ก ออสเตรีย สวีเดน อังกฤษ เยอรมนี ฮ่องกง ซาอุดีอาระเบีย จีน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก อิรัก แองโกลา แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และอังกฤษให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งได้แจ้งว่าเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว และเริ่มมีการเจรจามาโดยลำดับ และขอให้เร่งเจรจาโควตานำเข้าไก่กับอียูและอังกฤษอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าเดิม 2.8 แสนตันต่อปี ถ้าให้ดีต้องได้ 3.2 แสนตัน รวมทั้งให้เจรจาลดภาษีนำเข้านอกโควตาของอังกฤษจากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตันลงมาเพราะเป็นประเทศผู้บริโภค ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิต ส่วนญี่ปุ่น ต้องการให้ช่วยเปิดตลาดเพิ่มเติม ตลาดจีน ขอให้เร่งจีนมาตรวจสอบโรงงานผลิตไก่แปรรูป เพราะไทยยังส่งออกไก่แปรรูปไปจีนไม่ได้ รวมถึงสร้างโอกาสในการส่งออกเป็ด ส่วนตลาดอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน ขอให้ทูตพาณิชย์เร่งเจรจาเปิดตลาด

“ถ้าสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ คำนวณตัวเลขคร่าวๆ ปี 2562 ส่งออกได้มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท ปีนี้การส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้นได้อีก 3.3 หมื่นล้านบาท รวมเป็นทำรายได้เข้าประเทศกว่า 1.4 แสนล้านบาทได้” นายจุรินทร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ระบุว่า ปริมาณไก่และผลิตภัณฑ์เพียงพอสำหรับการบริโภคของคนไทย มีส่วนเกินที่ส่งออกได้เกือบ 1 ล้านตันต่อปี มีคู่แข่งสำคัญคือ บราซิล ที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกชะลอตัว ซึ่งไทยสามารถใช้จุดแข็งในฐานะผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาด้านการส่งออกขณะนี้คือ การล็อกดาวน์ของหลายประเทศ ทำให้มีการชะลอคำสั่งซื้อลง แต่เชื่อว่าเมื่อมีการเปิดประเทศจะทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยผู้ส่งออกคาดว่าปี 2563 จะส่งออกได้ประมาณ 9.9 แสนตัน


กำลังโหลดความคิดเห็น