บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดตัวนวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์โลกสำหรับไก่ไข่รุ่น ด้วยการปรับสูตรอาหารสัตว์ให้มีโภชนาการที่เหมาะสมกับสัตว์ร่วมกับการใช้เอนไซม์ในอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมสารอาหารและระบบการย่อยอาหารของสัตว์ดีขึ้น ทำให้การปล่อยของเสียโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักวิชาการอาหารสัตว์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารสัตว์บกให้ซีพีเอฟ กล่าวว่า นวัตกรรมอาหารไก่รุ่นรักษ์โลก เป็นการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์โดยการใช้สมดุลกรดอะมิโนที่เหมาะสมและการคัดเลือกเอนไซม์ที่ใช้ในอาหาร (enzyme) อย่างเหมาะสมกับสัตว์ในแต่ละช่วงวัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารที่สัตว์กินเข้าไป ส่งผลดีต่อสุขภาพของสัตว์ ขณะเดียวกันจะช่วยลดการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดและโปรตีน ที่ใส่มากเกินความต้องการของสัตว์และกำจัดออกมาเป็นของเสียหรือมูลสัตว์
“เป้าหมายของการวิจัยนวัตกรรมอาหารสัตว์ คือการสรรหาและคิดค้นวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตและพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ตรงความต้องการอาหารของสัตว์ในแต่ละช่วงวัย ช่วยให้สัตว์ย่อยอาหารได้ดี ส่งผลต่อการเติบโตของสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง โดยเหลือของเสียน้อยที่สุดหรือของเสียเป็นศูนย์ (zero waste) ขณะเดียวกันช่วยลดต้นทุนของบริษัทฯ” ดร.ไพรัตน์ กล่าว และเสริมว่า สูตรอาหารไก่ไข่รุ่นรักษ์โลกนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์กับกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียบร้อยแล้ว
ดร.ไพรัตน์กล่าวต่อไปว่า อาหารไก่ไข่รักษ์โลกดังกล่าวจะช่วยลดไนโตรเจนได้ 12-13% ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 103 ตันต่อปี ช่วยในการลดกลิ่น ซึ่งจะใช้ในโครงการคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ที่มีการเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 6.5 ล้านตัว ซึ่งเป็นการผลิตไข่ไก่แบบครบวงจรและช่วยเพิ่มการป้องกันโรคจากภายนอกตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) โดยนำฟาร์มเลี้ยงไก่รุ่น ไก่ไข่ โรงคัดไข่ และโรงงานแปรรูปไข่มาไว้ในพื้นที่เดียวกันภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดต้นทุนการผลิตของบริษัท ขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกสะสมที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Carbon Credit)
ปัจจุบันซีพีเอฟใช้นวัตกรรมอาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถช่วยปริมาณไนโตรเจนในมูลสุกรได้ถึง 20-30% ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 23,700 ตัน ในปี 2561 สำหรับกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ ได้ขยายผลไปยังธุรกิจผลิตอาหารสุกรในอีก 7 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน และรัสเซีย สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 41,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
ดร.ไพรัตน์กล่าวว่า ทีมวิจัยกำลังศึกษาเพื่อต่อยอดอาหารสุกรรักษ์โลกจากการช่วยลดกลิ่นไปสู่ช่วยลดการใช้น้ำ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 จะเป็นส่วนช่วยในการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม