xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนเดินหน้าประเมินผลครึ่งทาง AEC หลังเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน เจอความท้าทายมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาเซียนมอบสำนักงานเลขาธิการประเมินผลครึ่งทาง AEC สำเร็จมากน้อยแค่ไหน หลังเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน เจอความท้าทายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมให้ทำข้อเสนอแนะการเดินสู่เป้าหมาย เผยล่าสุดคู่เจรจาใหม่สนใจเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับอาเซียนเพียบ หลังจากทำ RCEP สำเร็จ ไทยหนุนสมาชิกปรับตัวรับเศรษฐกิจยุคใหม่ ร่วมมือดันประเด็นเศรษฐกิจที่เวียดนามเสนอให้สำเร็จ

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 12-13 ก.พ. 2563 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ว่าได้มีการประเมินผลการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ครึ่งทางที่ผ่านมาว่ามีความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 (ค.ศ.2025) หรือไม่อย่างไร เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2558 (ค.ศ. 2015) ค่อนข้างมาก จึงต้องประเมินผลการทำงานที่ผ่านมาว่าบรรลุเป้าหมายไปมากน้อยเพียงใด มีประเด็นใดที่ประสบความสำเร็จและประเด็นที่ควรปรับปรุง รวมทั้งการประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าโลกที่จะเกิดขึ้นและส่งผลต่อเศรษฐกิจอาเซียน

“ได้มอบหมายสำนักเลขาธิการอาเซียนให้ทำการประเมินเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานต่อไป ให้แล้วเสร็จในปลายปี 2563 เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของอาเซียนในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2568”

นายพิทักษ์กล่าวว่า อาเซียนยังได้เตรียมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศคู่ค้า หลังจากที่อาเซียนและคู่เจรจาสามารถสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้แล้ว โดยมีประเทศและกลุ่มประเทศที่สนใจสานสัมพันธ์กับอาเซียน ได้แก่ สหภาพยุโรป แคนาดา ชิลี สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) มีสมาชิก ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย ซึ่งขณะนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการประเมินความเป็นไปได้และศักยภาพของประเทศที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน โดยทั้ง 4 กลุ่มมีจุดอ่อนและจุดแข็ง รวมทั้งมีมาตรฐานและความต้องการในการเปิดเสรีที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ อาเซียนยังได้ยืนยันให้มีการลงนามความตกลง RCEP ในปีนี้ โดยปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของอาเซียนจะดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้อินเดียเข้าร่วมความตกลงในปีนี้ด้วย

นายพิทักษ์กล่าวว่า ในด้านการปรับตัวของอาเซียนเพื่อรองรับอนาคต ไทยได้เสนอว่า HLTF-EI ควรที่จะกำหนดทิศทางเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะการปรับตัวของอาเซียนเพื่อรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของโลก เพื่อให้สินค้าและบริการของอาเซียนได้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในห่วงโซ่มูลค่าโลก

ส่วนประเด็นทางด้านเศรษฐกิจที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนนำเสนอในปีนี้ มีจำนวนรวม 14 ประเด็น ซึ่งหลายประเด็นเป็นประเด็นที่สานต่อจากที่ไทยริเริ่มไว้ เช่น การจัดทำกลไกเพื่อติดตามและประเมินการบูรณาการด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้การควบคุม (IUU) และการลงนามความตกลง RCEP หลังจากปิดดีลที่ไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมต่างก็ให้คำมั่นสัญญาที่จะร่วมกันผลักดันการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อาเซียนสามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ไทยได้เสนอไว้ทั้งหมด เช่น การเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window ในทุกประเทศสมาชิกอาเซียน การสรุปการเจรจา RCEP เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น