xs
xsm
sm
md
lg

ARV ตั้งบริษัทร่วมทุนพัฒนาโดรน หวังเพิ่มรายได้ภาคการเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เออาร์วี” ผนึกกลุ่มไทยคมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนพัฒนาโดรนใช้ในภาคเกษตรกรรมโดยมีแพลตฟอร์มให้บริการแบบครบวงจร รวมทั้งเตรียมนำหุ่นยนต์ 2 รุ่นเพื่อการสำรวจและซ่อมบำรุงไปให้บริการธุรกิจ E&P และพลังงาน

นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทฯ เตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทในเครือ บมจ.ไทยคม เพื่อพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ใช้ในภาคการเกษตรในรูปแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งโดยมีแพลตฟอร์มบริการครบวงจร

ในปี 2563 จะเห็นการพัฒนาโดรนพ่นสเปรย์ที่มีรูปแบบแตกต่างจากที่อื่นเพราะเป็นการผสมผสานการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) เข้ามาร่วมด้วย ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้เจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเกษตรให้แก่บริษัทได้ เนื่องจากปัจจุบัน ประชากรไทยกว่า 70% อยู่ในภาคการเกษตร แต่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ประมาณ 10% เท่านั้น จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปช่วยสร้างการเติบโตผ่านภาคการเกษตรได้อีกมาก

นายธนากล่าวต่อไปว่า เออาร์วียังเดินหน้าพัฒนาหุ่นยนต์ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) ที่จะเป็นการช่วยซัพพอร์ตธุรกิจของบริษัทแม่ คือ ปตท.สผ.เป็นหลัก และยังเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยในเดือน มี.ค.นี้ มีแผนจะทำการผลิตเชิงพาณิชย์ในส่วนของหุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย (Inspection-class Autonomous Underwater Vehicle - IAUV) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ใต้น้ำได้โดยอัตโนมัติ เช่น ตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำและโครงสร้างของแท่นผลิตปิโตรเลียมใต้ทะเล โดยจะนำไปใช้งานตรวจสอบท่อใต้ทะเลในอ่าวไทยของ ปตท.สผ.

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะทดสอบการใช้งานจริงในทะเลและผลิตเชิงพาณิชย์ในส่วนของหุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (Subsea Flowline Control and Repair Robot - SFCR) หรือหุ่นยนต์นอติลุส (NAUTILUS) ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลสำหรับใช้ในการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำด้วยเช่นกันในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้

บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะต่อยอดการพัฒนาหุ่นยนต์ NAUTILUS ให้สามารถนำไปใช้งานกับท่อก๊าซฯที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ขนาด 18-24 นิ้ว จากปัจจุบันยังใช้งานได้กับท่อขนาด 12-16 นิ้วเท่านั้น เพื่อเข้าไปให้บริการกรณีที่บริษัทแม่ได้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งเป็นแหล่งขนาดใหญ่ที่มีปริมาณท่อก๊าซฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า

“บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้ในปีนี้เติบโตขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 2-3 เท่า หลังจากสามารถใช้บริการเชิงพาณิชย์หุ่นยนต์ 2 ตัว คือ IAUV และ NAUTILUS รวมถึงการพัฒนาโดรนพ่นสเปรย์ และอาจมีการพัฒนาแอปพลิเคชันอื่นๆ มาเสริมทัพให้กับธุรกิจ oil & gas ด้วย”

สำหรับแผนขยายการให้บริการออกไปยังต่างประเทศนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยจะประยุกต์เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างไรให้ตอบโจทย์การใช้งานจริง หรือจะต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อขยายการให้บริการออกไปต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย เมียนมาที่บริษัทแม่ดำเนินธุรกิจ E&P อยู่ โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น