xs
xsm
sm
md
lg

ทช.ระดมฉีดละอองน้ำ คุมฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั่ว กทม.และพื้นที่ก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงชนบทปล่อยละอองน้ำลดฝุ่นพิษรับมือ PM 2.5 พื้นที่ 6 แห่งในเขต กทม. และปริมณฑล เช่นสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานปิ่นเกล้า สะพานพระราม 7 สะพานภูมิพล ถนนราชพฤกษ์ และถนนราชพฤกษ์ พร้อมคุมเข้มพื้นที่ก่อสร้าง รับเหมาดูแลความสะอาดพื้นที่และเครื่องจักร


นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า กรมทางหลวงชนบทได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญในการช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ฟุ้งกระจายในปริมาณที่มากเกินเกณฑ์กำหนด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชีวิตประจำวัน ซึ่ง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการเร่งด่วน ซึ่ง ทช.ได้ติดตั้งระบบ High Pressure Water System ปล่อยละอองน้ำเพื่อดักจับละอองฝุ่น PM 2.5 จำนวน 6 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานพระราม 7 สะพานภูมิพล ถนนราชพฤกษ์ กม.15+050 และถนนราชพฤกษ์ ช่วงทางต่างระดับสวนเลียบ


พร้อมขอความร่วมมือผู้รับจ้างดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันและลดมลภาวะทางอากาศ PM 2.5 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้สั่งการให้สำนักงานทางหลวงชนบท แขวงทางหลวงชนบท และหมวดบำรุงทางหลวงชนบททั่วประเทศ ให้ขอความร่วมมือผู้รับจ้าง ดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้

- จำกัดพื้นที่หน้างานที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
- เข้มงวดมาตรการป้องกันและลดฝุ่นละออง เช่น การฉีดพรมน้ำ การทำความสะอาดล้อรถ เข้า-ออก พื้นที่ก่อสร้าง การกวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง การปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย
- จัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาโดยเด็ดขาด
- พิจารณาวิธีการก่อสร้างที่ใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิงน้อย เช่น warm mix asphalt
- ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดี ห้ามใช้เครื่องจักรที่ก่อให้เกิดเขม่าควันดำและงดใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วกับเครื่องจักร
- อำนวยความสะดวกต่อการจราจรบนถนนบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดการจราจรติดขัดจากการก่อสร้างและบำรุงทาง
- ทำความสะอาดเศษฝุ่นและเศษวัสดุที่สะสมบริเวณขอบทางและเกาะกลางอย่างสม่ำเสมอ
- เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนดและเลือกใช้เกรดน้ำมันให้เหมาะสมตามมาตรฐาน
- ปรับตั้งเครื่องยนต์และอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ให้เป็นไปตามคู่มือประจำรถกำหนด
- ตรวจสอบและทำความสะอาดเขม่าที่ตกค้างสะสมอยู่ในท่อไอเสีย
- ตรวจวัดและเติมลมยางให้ได้มาตรฐานกำหนดตามแต่ละชนิดของรถโดยให้เหมาะสมกับการใช้งาน
- หมั่นตรวจสอบและทำความสะอาดไส้กรองอากาศอย่างสม่ำเสมอและเปลี่ยนทันทีเมื่อเสื่อมสภาพ

อย่างไรก็ตาม ทช.ยังได้ขอความร่วมมือให้ผู้รับจ้างจัดทำบัญชีเครื่องจักร ระบุประเภทและหมายเลขทะเบียนของแต่ละโครงการ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการประสานสำนักงานขนส่งจังหวัดในการจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความสมบูรณ์ของเครื่องจักรเพื่อป้องกันและลดมลภาวะทางอากาศในระยะยาวต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น