xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” ออก 5 มาตรการช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฟผ.ร่วมลดฝุ่น PM 2.5 ออก 5 มาตรการเพื่อเร่งช่วยเหลือและรณรงค์ป้องกันภัยจากฝุ่นแก่ประชาชนและชุมชนโดยรอบพื้นที่ กฟผ. พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นของประเทศ

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่หลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศสะสมเกินค่ามาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยมีสาเหตุมาจากไอเสียที่ปล่อยออกมาจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง การใช้ฟืนถ่านในการหุงต้ม ควันธูป รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่มีระบบควบคุมมลพิษนั้น กฟผ.ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและมีมาตรการให้กับโรงไฟฟ้าและเขื่อนของ กฟผ.ทั่วประเทศดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาฝุ่นให้แก่ชุมชนโดยรอบพื้นที่ กฟผ. และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองของประเทศไทย

ทั้งนี้ กฟผ.คำนึงถึงหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิด PM 2.5 คือ การเผาไหม้ ดังนั้น กฟผ.จึงได้ออกมาตรการป้องกัน ดังนี้ 1. รณรงค์ประชาชนรอบเขื่อนและโรงไฟฟ้าห้ามจุดไฟเผาป่าและวัชพืช 2. กฟผ.ร่วมกับชุมชนจัดตั้งทีมเฝ้าระวังไฟป่าเพื่อร่วมกันทำแนวกันไฟป่า และจัดทีมดับไฟป่าเพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าให้สงบลงได้อย่างรวดเร็ว และ 3. จัดโครงการสร้างฝายชะลอน้ำรอบพื้นที่เขื่อนของ กฟผ.เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่าและลดโอกาสเกิดไฟป่า

นอกจากนี้ เพื่อช่วยลดและบรรเทาปัญหาการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM 2.5 ในบริเวณสำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี และพื้นที่ชุมชนโดยรอบอย่างเร่งด่วน กฟผ.จึงได้ออกมาตรการเปิดระบบพ่นละอองไอน้ำบนยอดตึก 20 ชั้นของ กฟผ. ซึ่งระบบดังกล่าวมีลักษณะเป็นหัวฉีดพ่นละอองไอน้ำจำนวนประมาณ 1,000 หัวและใช้น้ำประปาที่ผ่านเครื่องกรองมาฉีดพ่น โดยเปิดทำงานวันละ 3 ช่วงเวลา ช่วงละ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะเปิดระบบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลาย รวมทั้งยังได้ติดตั้งรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้ง กฟผ.ยังได้ออกมาตรการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองจากภัยฝุ่น โดยเตรียมแจกหน้ากากป้องกันฝุ่นให้ชุมชนโดยรอบพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. และพนักงานอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น กฟผ.ยังเล็งเห็นถึงแนวทางเพื่อการลดปัญหาฝุ่นในระยะยาว จึงมีมาตรการมุ่งมั่นส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยปัจจุบัน กฟผ.มีรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (รถ EV) รถมินิบัสไฟฟ้าสำหรับใช้รับส่งพนักงาน กฟผ. และประชาชนที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่สำนักงาน โรงไฟฟ้า เขื่อน และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. พร้อมติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี รวมถึงพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก.ให้เป็นรถไฟฟ้าต้นแบบ และยังได้ขยายผลไปสู่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM 2.5 จะไม่ได้มาจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าและโรงไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งยังมีการติดตั้งระบบดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต (ESP) และระบบกำจัดมลสารอื่นๆ แต่โรงไฟฟ้าของ กฟผ.ทั่วประเทศจะยังคงควบคุมดูแลการปลดปล่อยมลสารของโรงไฟฟ้า กฟผ.ให้อยู่ในระดับมาตรฐานของประเทศไทยและตรวจวัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากผลการตรวจวัดบริเวณปล่องโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ทุกครั้ง พบว่ามีค่าที่ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบได้จากป้ายแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและเว็บไซต์ของโรงไฟฟ้า กฟผ.ในพื้นที่

“กฟผ.พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ กฟผ.เตรียมออกกิจกรรมรณรงค์ประชาชนเพื่อร่วมลดฝุ่นในเร็วๆ นี้ต่อไป” ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น