อสมท ประกาศปี 2563 เป็นปีแห่งแผนการพัฒนาองค์กรจากเดิมอาศัยธุรกิจมีเดียโทรทัศน์และวิทยุ ไปสู่การเน้นวางพื้นฐานเพื่ออนาคต และเพิ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่อาศัยโฆษณาทางโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากกระแสเงินในตลาดมีเดียเดิมเริ่มทรงตัว โดยลูกค้าและผู้ชมหันไปให้ความสนใจ Platform และรูปแบบ Contents ใหม่ๆ มากขึ้น
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 อสมท ได้ประกาศเดินหน้าปรับธุรกิจใหม่ โดยเพิ่มหน่วยธุรกิจอีก 2 ส่วน คือ 1. สำนักธุรกิจดิจิทัล นำ Content ใน Platform เดิมมาพัฒนาสู่ Platform ใหม่ ประกอบด้วย Contents ข่าวและข่าวบันเทิง Content เสียงจากวิทยุ 53 สถานี เพื่อขยายไปสู่ Podcast และ Radio Online 2. สำนักดิจิทัลแพลตฟอร์ม เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มกับ Digital Platform ที่มีโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากธุรกิจมีเดียโทรทัศน์ โดยเปิดโอกาสเจรจากับ Partner ไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งฝ่ายงานเล็กๆ เป็นกลุ่มทำงานแบบ Business Lab ชื่อ ฝ่ายพัฒนาโครงการใหม่ (Growth project) เป็นคณะทำงาน Fast track นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ที่วิเคราะห์ธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิม เพื่อสร้างให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองในอนาคต
การดำเนินการดังกล่าวเป็นการต่อยอดทั้งจากการผลิต Content ข่าวและอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วเพื่อมุ่งสู่ธุรกิจ Data และ Information ที่มีรากฐานมาจาก Content ที่น่าเชื่อถือ และการหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่เป็น Non broadcast อีกด้วย
นายเขมทัตต์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิม เช่น สื่อหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ลดน้อยลงซึ่งเป็นผลมาจาก Disruptive technology และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้เทคโนโลยีในการรับชมข่าวสารผ่านอุปกรณ์รับชมแบบใหม่ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยี 5G และ Super Wi-Fi ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อดั้งเดิมลดลงโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ในส่วนรายการต่างๆ ของ อสมท ก็พบเช่นกันว่าผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางการรับชมข้อมูลข่าวสารออนไลน์มากขึ้น อาทิ รายการชัวร์ก่อนแชร์ ของสำนักข่าวไทย พบว่าระหว่างปี 2561-2562 มีผู้ติดตามรายการผ่านสื่อสังคมออนไลน์รวมมากกว่า 3 แสนราย นำเสนอข้อมูลในรูปแบบวิดีโอแล้วกว่า 1,300 ชิ้น รวมทั้งยังมีการร่วมบรรยาย อบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับความรู้เท่าทันสื่อเพื่อต้านกระแสข่าวปลอม ทั้งในไทยและต่างประเทศ กว่า 70 ครั้ง โดยในปี 2563 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์จะมีการขยายงานด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น, เฟซบุ๊ก MCOT Digital ในช่วงปี 2561-2562 มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น 35,000 ไลก์ ขณะที่เฟซบุ๊กของสำนักข่าวไทยมียอดของผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยในช่วงปี 2561-2562 มีผู้ติดตามเฟซบุ๊กของสำนักข่าวไทยเพิ่มขึ้น 495,603 คน
ดังนั้น การวางรากฐานพัฒนาธุรกิจให้สอดรับความต้องการในตลาดมากขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมสื่อที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดย อสมท มีนโยบายขับเคลื่อนองค์กรให้เป็น “Trusted Content & Platform เน้นการสร้าง Contents และ Platform ที่มีประโยชน์ เชื่อถือได้ให้เป็นแหล่งอ้างอิงความถูกต้อง ตลอดจนรวบรวมข้อมูล Content Database ที่ถูกต้องเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ โดยภาพรวมของธุรกิจสื่อในปัจจุบันนั้น การที่ได้ข้อมูล Consumer มากที่สุดถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจมากที่สุด กล่าวคือ ธุรกิจสื่อมวลชนเริ่มนำ Big Data เข้ามาใช้เพื่อค้นหาความต้องการของตนเองและอยากรู้ความเคลื่อนไหวของบุคคลอื่นๆ ซึ่งเป็นการจับกลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภคที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะขยายงานด้าน Creative contents ให้แข็งแรง สอดคล้องกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น WHAM ซึ่งล่าสุดเพิ่มพันธมิตรใหม่ๆ เช่น Mono Music มาร่วมดำเนินธุรกิจด้วย พร้อมกันนี้ จะมีการพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจังทั้งการ Re-skill และเพิ่มทักษะ Multiskill ให้พนักงานมากขึ้นด้วย
“ก้าวต่อไปของ บมจ.อสมท จะไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจโทรทัศน์หรือวิทยุ อสมท จะเดินหน้าสร้างรายได้จากธุรกิจ Digital และธุรกิจใหม่ ซึ่งประกอบด้วย รายได้จาก Website และ Social Media, รายได้จากการขาย Content และรับจ้างผลิตรายการทั้งใน และต่างประเทศ, รายได้จากธุรกิจ Platform ใหม่ๆ เช่น WHAM และ Podcast, เพิ่มกลยุทธ์จาก MCOT Academy ที่เน้นพัฒนาหลักสูตรสำหรับการพัฒนาการสื่อสารด้านวิชาชีพ, หลักสูตร Media training และ Brand สำหรับผู้บริหารระดับสูงเพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจดั้งเดิม โดยเชื่อว่าหากสามารถดำเนินการได้ตามแผนธุรกิจที่วางไว้ รายได้เฉลี่ยของ บมจ.อสมท ตั้งแต่ปี 2563-2567 จะเพิ่มขึ้น” นายเขมทัตต์กล่าว
นายเขมทัตต์กล่าวถึงธุรกิจโทรทัศน์ อสมท ในปี 2563 ว่า ยังคงมีนโยบายสร้างสรรค์ Content ที่น่าสนใจ และบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยจะลดการผลิตรายการสดที่ผลิตเองส่วนหนึ่ง เพื่อควบคุมต้นทุนในฟรีทีวี และเน้นให้ทีมข่าวหันไปเปิดตลาด Online มากขึ้น รวมทั้งร่วมผลิตรายการกับพันธมิตรมากขึ้น โดยในปี 2563 ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 จะยังคงเน้นความแข็งแกร่งด้านพันธมิตรผู้ผลิตรายการสารคดีวาไรตีระดับโลกจาก Discovery อาทิ รายการกลุ่มวิทยาศาสตร์ การทดลองเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ดูสนุก เร้าใจ และเข้าใจง่าย กลุ่มนิเวศวิทยาและธรรมชาติ ในรูปแบบสารคดีสัตว์ที่คนไทยชื่นชอบจาก NHK ประเทศญี่ปุ่น ซีรีส์จาก BBC First ที่ได้รับความนิยมสูง ซีรีส์ดังจากประเทศจีนอย่าง The Lost Swordship (เซียนกระบี่เหนือยุทธภพ) และภาพยนตร์ฮอลลีวูดระดับโลกจาก โซนี่ พิคเจอร์ส มาให้ชมทุกสัปดาห์
ในส่วนของรายการมวยไทยระดับพรีเมียม แม็กซ์ มวยไทย สปอร์ต เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพิ่มความสนุกกับไฮไลต์ Max Muay Thai อีก 1 วันในวันเสาร์ เพื่อให้ได้ชมกันอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นถึง 6 วัน จากเดิมมีเพียง 5 วัน อีกทั้งจะมีการถ่ายทอดสดรายการกีฬาระดับโลกเป็นช่วงๆ เช่น ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ HONDA LPGA Thailand รายการแข่งขันกอล์ฟหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ยังคงมีให้ชมต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 รวมทั้งการปรับรายการข่าวเศรษฐกิจและต่างประเทศระดับโลกที่น่าสนใจอีก 1-2 รายการ
อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญในปี 2563 นี้ คือการทำ Co-Production กับพันธมิตรผู้ผลิตรายการระดับนานาชาติ เป็นการร่วมกันผลิตระหว่างช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 กับ Japan International Broadcasting Inc. (JIB) ประเทศญี่ปุ่น กับรายการท่องเที่ยวแนวใหม่ของสองวัย, ความร่วมมือกับ China Media group และ CCTV ประเทศจีน รวมทั้งการลงทุนร่วมผลิตกับ Netflix ซึ่งเป็นการสร้าง Content รายการคุณภาพที่มีความน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย สำหรับด้านวิทยุ จะเน้นการนำ Content ที่มีอยู่ไปวางใน Platform ใหม่ๆ ทั้งวิทยุ Online, Podcast, Website และ Application ต่างๆ โดยจะบูรณาการให้เป็น Platform เดียวเพื่อสะดวกต่อกลุ่มเป้าหมายในการค้นหาและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น