ธนชาตประกันภัย ตระหนักถึงปัญหาอุบัติเหตุบนถนนที่เกิดขึ้น จึงมุ่งสร้างความปลอดภัยในพื้นที่จุดเสี่ยงภัยอันตรายและเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายรองในพื้นที่ชุมชน เพื่อสร้างแต้มต่อให้ชุมชนก้าวสู่ถนนปลอดภัย จับมือ กระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่าย ผลักดันโครงการ “พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย" เพื่อร่วมกันลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุของคนไทย
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในทุกช่วงเวลาที่เกิดขึ้น มีข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นว่า ในเขตพื้นที่ถนนชุมชน ถนนทางหลวงในภูมิภาคหัวเมืองจังหวัดต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยงภัยอันตรายและเกิดอุบัติเหตุทางถนนบ่อยครั้ง ทำให้บางครั้งผู้ประสบภัยสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน สูญเสียอวัยวะกลายเป็นผู้พิการ หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมาจากถนนและสภาพแวดล้อม
นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ ในฐานะผู้ประกอบการด้านการประกันภัย ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเชื่อมั่นว่าความปลอดภัยทุกคนมีส่วนสร้างได้ จึงมุ่งมั่นสร้างแต้มต่อให้กับสังคม ภายใต้โครงการ “แต้มต่อสู่ความปลอดภัย Yes, We Safe” ตั้งแต่ปี 2557 มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์เพื่อสังคม ลดความสูญเสียอุบัติเหตุบนถนนสายรองในเขตพื้นที่ชุมชนต่างจังหวัดทั้งหมด 10 จุด/จังหวัด ด้วยการติดตั้งป้ายเตือนโค้ง ป้ายหยุด ติดตั้งกระจกโค้งตามทางแยกที่เป็นจุดเสี่ยง การติดหมุดสะท้อนแสง ปรับปรุงลูกระนาดชะลอความเร็วบนถนน มอบไฟกะพริบ บริเวณ 4 แยกชุมชน ทาสีราวไม้หรือยางกั้นข้างถนนตรงทางโค้งอันตราย ทั้งหมดเป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่”
จังหวัดนครนายก ถือเป็น 1 ใน 10 จังหวัด ที่อยู่ในโครงการ Safer on the Road ของบริษัทฯ ที่ได้ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.นครนายก) องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้าน ได้เลือกพื้นที่จุดเสี่ยงภัยที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดบริเวณแยกเจดีย์ทองและแยกกำนันชรา โดยทางแยกทั้ง 2 แห่งมีจุดเหมือนกันคือ กายภาพของสิ่งแวดล้อมถนน ส่งผลให้ผู้ใช้รถไม่แน่ใจว่า เส้นใดเป็นถนนหลักเส้นใดเป็นถนนรอง ไม่มีสัญญาณจราจร ผู้ขับขี่แต่ละด้านขับขี่มาด้วยความเร็วเพราะเห็นถนนว่าง จึงมักเกิดอุบัติเหตุกลาง 4 แยกเป็นประจำ
ส.ต. สมชาย แก้วมณี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง นครนายก กล่าวถึงบริเวณแยกเจดีย์ทอง ซึ่งเป็น 5 แยก ด้านหนึ่งเป็นสะพานก่อนถึงแยกรถที่ลงจากสะพานแทบจะไม่ชะลอความเร็ว เพราะเห็นเป็นถนนในชุมชน รถส่วนใหญ่ก็จะเร่งเครื่องเพื่อให้ผ่านจุด 5 แยกนี้ไปให้เร็วที่สุด อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นทันที
“ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าประชาชนขาดจิตสำนึกเรื่องวินัยจราจร อีกทั้งกายภาพถนนไม่เหมาะสม คนต่างพื้นที่ไม่ชำนาญเส้นทางไม่รู้ว่าสายไหนเป็นหลัก หรือสายรอง บางคนไม่ชะลอรถ บางคนชะลอรถ ไม่เปิดไฟเลี้ยว ไม่มีสัญญาณจราจร ทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ง่าย โดยหลังจากธนชาตประกันภัยมาติดตั้งป้ายเตือนริมถนนทางรอง ทาสีขาวแดงให้เห็นเด่นชัด ช่วยให้ผู้ใช้ถนนระมัดระวังมากขึ้น ลดอุบัติเหตุอย่างวัดผลได้”
นายเรวัตร ชูชาติ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวังกระโจม จังหวัดนครนายก กล่าวถึงกายภาพถนนบริเวณแยกกำนันชรา ซึ่งเป็น 4 แยกว่า รถที่มาจากด้านหนึ่งเมื่อจะถึง 4 แยก ถนนจะยกระดับขึ้นทำให้รถทุกคันจะต้อง “เร่งเครื่อง” เมื่อผ่านเนินดังกล่าว ทำให้มีโอกาสประสบอุบัติเหตุกลาง 4 แยกได้ง่าย ๆ เช่นกัน
“หลังจากธนชาตประกันภัย มาทำป้ายสัญญาณไฟเตือนบริเวณ 4 แยกให้ ช่วยให้คนในชุมชนได้รู้ว่าเส้นนี้คือถนนเส้นรองที่จะต้องมองดูรถจากเส้นหลัก ส่วนรถจากเส้นหลักที่จะเร่งเครื่องก่อนผ่าน 4 แยก จะมองเห็นสีขาวแดงที่ทาไว้บริเวณสะพานตรง 4 แยกดังกล่าว ช่วยให้คนขับรถได้ระมัดระวังมากขึ้น จึงช่วยลดอุบัติเหตุบาดเจ็บและตายได้”
นายสันติภาพ นาคะเกษียร รักษาราชการแทน หัวหน้าสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดนครนายก กล่าวถึง 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากธนชาตประกันภัยได้เข้ามาทำงานเรื่องความปลอดภัยบนถนนเส้นรองในชุมชน นับเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ และคนต่างพื้นที่ที่ต้องใช้ถนนทั้ง 2 แยกดังกล่าวอย่างมาก โดยมีตัวเลขสถิติดังนี้
ข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559-2561) ก่อนดำเนินการปรับแก้ไขจุดเสี่ยง
1. แยกเจดีย์ทอง เกิดอุบัติเหตุ 12 ครั้ง บาดเจ็บ 7 ราย ผู้เสียชีวิต 2 ราย
2. แยกกำนันชรา เกิดอุบัติเหตุ 8 ครั้ง บาดเจ็บ 5 ราย ผู้เสียชีวิต 3 ราย
หลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง
1. แยกเจดีย์ทอง เกิดอุบัติเหตุ 5 ครั้ง บาดเจ็บ 4 ราย ผู้เสียชีวิต 0 ราย
2.แยกกำนันชรา เกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง บาดเจ็บ 1 ราย ผู้เสียชีวิต 0 ราย
นายพีระพัฒน์ กล่าวว่า นับจากนี้เป็นต้นไป ธนชาตประกันภัยจะเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น โดยร่วมมือกับ กระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดโครงการ "พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย" ให้ชุมชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน นำเสนอโครงการวิเคราะห์แก้ไขจุดเสี่ยงในชุมชนของตน โดยใช้หลักการประเมินจากปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งด้านกายภาพและพฤติกรรมทางสังคม เน้นให้ชุมชนสามารถดำเนินการได้ง่ายๆ เป็นการเสนอพื้นที่ผ่านเข้าสู่เว็บไซต์ของโครงการ
จากนั้น การขับเคลื่อนโครงการจะดำเนินงานผ่านเครือข่ายชุมชนตั้งแต่ ระดับ “นายอำเภอ” ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) ทำหน้าที่ผลักดันให้ชุมชนระดับ “ตำบล” มี บทบาทร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ของตน โดย ศปถ.จังหวัด จะให้การสนับสนุน ตลอดจนให้คำปรึกษาและกำกับติดตามการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามขั้นตอน และเมื่อชุมชนนำเสนอผลงานของตนเองเข้ามาแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผลงาน ซึ่งหากชุมชนใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก ธนชาตประกันภัยจะประสานกับภาคีเครือข่ายและชุมชนเพื่อเข้าพื้นที่และร่วมกันแก้ไขปัญหาลดจุดเสี่ยงในพื้นที่ชุมชนต่อไป
“ธนชาตประกันภัย มุ่งหวังให้ โครงการ "พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย" มีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุของคนไทย โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะต้องแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนถนนให้ได้ 30 จุดทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากบริษัทฯ 10 ล้านบาท“ นายพีระพัฒน์ กล่าว