ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันกลุ่ม ปตท. (PRISM Expert) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2563 อยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตามอง คือ สงครามการค้า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก การเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปก และนโยบายของกลุ่มโอเปกในการควบคุมการผลิตเพื่อรักษาสมดุลของตลาด
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา 2019 The Annual Petroleum Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Energy…Shaping A Better Future - อนาคตพลังงาน สานพลังเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของ กลุ่ม ปตท. หรือ PRISM Expert ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดขึ้นเพื่อนำเสนอทิศทางและแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงความท้าทายของพลังงานในอนาคตที่ต้องเผชิญ และแนวทางการรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ อีกทั้งมองเห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจ เพื่อให้สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้ และสิ่งที่สำคัญคือ การร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกันสานพลังให้เกิดความยั่งยืน (Sustainable Growth for All) ให้กับสังคมไทยต่อไปในอนาคต ตามนโยบายของกลุ่ม ปตท.
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เปิดเผยทิศทางและแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกปี 2563 ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 1.0-1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และความต้องการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร อาจส่งผลกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปก เช่น สหรัฐอเมริกา ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันที่เติบโตช้าลง ทำให้กลุ่ม OPEC ยังคงต้องใช้นโยบายควบคุมการผลิตเพื่อรักษาสมดุลของตลาด
ทีม PRISM Expert จึงคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2563 จะอยู่ในช่วง 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยระยะยาวที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำมันที่ต้องติดตาม อาทิ นโยบายพลังงานสีเขียว และการพัฒนาของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อมุ่งสู่พลังงานที่ยั่งยืนอาจทำให้ความต้องการใช้พลังงานเปลี่ยนไป