ผู้จัดการรายวัน 360 - สื่ออินสโตร์ อาวุธ (ไม่) ลับ ช่วยแบรนด์ขายได้จริง 3 ปีลูกค้าใช้งบเพิ่ม 60% สวนทางสื่อหลักที่ใช้ลดลง "แอคมีเดีย" ส่งเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าช่วย พร้อมขยายสาขาเพิ่ม สิ้นปีรายได้โต 2 หลัก
นายเดิร์ก ยัน เหร์มัน อาร์ทส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอเอ็มจี โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการโซลูชันทางด้านสื่อโฆษณาและกิจกรรมทางการตลาดในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในนาม "แอคมีเดีย" เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าแต่ละประเภทมีการแข่งขันสูง มีหลายแบรนด์ ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกมาก แบรนด์จึงต้องประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าให้ได้ สื่ออินสโตร์จึงตอบโจทย์และเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ดี เห็นได้จากตัวเลขสื่อโฆษณาในอินสโตร์มีเดียที่มีสัดส่วนถึง 16% จากสื่อรวม บวกกับลูกค้าของแอคมีเดียในช่วง 3 ปีมานี้มีการเพิ่มงบโฆษณาอีก 50-60% ขณะที่ลูกค้าหลักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์ 70% และเครื่องดื่มกับสแน็กอีก 30%
ทั้งนี้ 4-5 ปีที่ผ่านมาสื่ออินสโตร์เป็นเพียงสื่อเทรดิชันนัล แค่ป้ายสินค้าธรรมดาเท่านั้น แต่หลังจากเทคโนโลยีและมือถือเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กลยุทธ์ทางการตลาดการทำสื่ออินสโตร์ของแอคมีเดียจึงต้องปรับตัว ปัจจุบันนำเอาเทคโนโลยีและครีเอทีฟเข้ามาช่วยกระตุ้นการซื้อสินค้า ณ จุดขายมากยิ่งขึ้น มีการใช้ดาต้าเกี่ยวกับพฤติกรรมลูกค้านำไปใช้วิเคราะห์วางแผนกับแบรนด์สินค้า เพื่อเลือกใช้สื่ออินสโตร์ให้มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น
นายเดิร์กกล่าวต่อว่า ปัจจุบันแอคมีเดียมีสื่อโฆษณาในอินสโตร์อยู่ 5 รูปแบบหลัก คือ 1. สื่อบนชั้นวางสินค้า (Shelf Media) 2. สื่อบริเวณช่องทางเดิน (Aisle Media) 3. สื่อบนตู้แช่ (Chiller Media) 4. สื่อวิทยุในห้าง (In-store Radio) และ 5. สื่อในพื้นที่เช่าของห้างค้าปลีก (Mall and Outdoor Media) ซึ่งต่อปีบริษัทใช้งบลงทุนอยู่ประมาณหนึ่ง ทั้งในส่วนติดตั้งใหม่ในพื้นที่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ และเปลี่ยนติดตั้งแทนพื้นที่เก่า
ล่าสุดได้ลูกค้าใหม่ คือ CJ Express และมินิบิ๊กซีทั้งหมด ทำให้มีเครือข่ายรวมกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย บิ๊กซี 900 กว่าสาขา, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต 165 สาขา, ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต 300 สาขา, วิลล่า มาร์เก็ต 30 สาขา และห้างโมเดิร์นเทรดท้องถิ่น 50 สาขา
"แอคมีเดียที่โดดเด่นเรื่องการสร้างสรรค์สื่อโฆษณาในรูปแบบ Sensory Marketing ที่เชื่อมโยงประสบการณ์ในเชิงอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดขึ้นกับลูกค้า ทำให้สื่อโฆษณาของแอคมีเดียมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน สามารถสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นในตราสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความสนใจในสินค้าและตัดสินใจซื้อ ณ จุดขายได้ โดยในปีหน้าแอคมีเดียมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นพร้อมกับวางแผนที่จะนำเข้าเทคโนโลยีแบบใหม่เข้ามาใช้เพื่อทำให้สินค้าของแบรนด์ประสบความสำเร็จจากการใช้สื่อโฆษณา ณ จุดขายได้มากยิ่งขึ้น โดยสิ้นปีนี้บริษัทยังคงมีการเติบโต 2 หลัก แม้จะต่ำกว่าเป้าหมาย จากการเพิ่มพื้นที่บริการ และการลงทุนด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยี" นายเดิร์กกล่าว
ด้านนายปภพ ฤชุตระกูล Head of Strategy and planning (Digital&Traditional) มายด์แชร์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมโฆษณาว่า จากการคาดการณ์ของสมาคมมีเดียเอเยนซี เม็ดเงินโฆษณาในปี 2562 มีโอกาสเติบโต 5% แตะ 1.21 แสนล้านบาท โดยสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์เติบโตมากที่สุดถึง 34% ตามมาด้วยสื่อโฆษณาในห้าง (In-Store) 16% สื่อนอกบ้าน (Outdoor) 6% สื่อโรงภาพยนตร์ 4% ตามลำดับ ด้วยความที่สื่อแต่ละประเภทมีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น
สื่อออนไลน์มีความสามารถในการทํา Targeted ได้แบบ Personalization เมื่อมาภายในร้านค้าก็จะเจอสื่อโฆษณาภายในร้านค้า (In- Store Media) ซึ่งเป็น Touch Point หนึ่งที่ช่วย Remind Brand เกิดการรับรู้ และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้ การตลาดในยุค Internet of Things ไม่ใช่แค่การสร้างผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่แบรนด์ต้องลงลึกไปถึงระดับการสร้างประสบการณ์ทางดิจิทัลให้เป็นเฉพาะบุคคล (Personalized Digital Experience) พร้อมทั้งมีการปรับกลยุทธ์การวางแผนสื่อแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยยังให้ความสําคัญต่อสื่อโฆษณาภายในร้านค้าซึ่งเป็นช่องทางที่สําคัญของ Advertising Mix ในแต่ละแคมเปญ
ดังนั้น สื่ออินสโตร์จึงมีความสำคัญในการตัดสินใจ ณ จุดขาย เพราะสามารถสร้าง Shopper Engagement ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากผลสำรวจพบว่ามีลูกค้ามาเดินใช้บริการภายในร้านค้าจำนวน 32 ล้านคนต่อเดือน จากการศึกษาพฤติกรรมพบว่ามีลูกค้ามากถึง 73% ที่ไม่ได้วางแผนการซื้อสินค้าล่วงหน้า สื่อ In-Store จึงสามารถสร้างโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงข้อความประชาสัมพันธ์ที่อยู่บนชั้นวางสินค้าได้มากขึ้น เพราะมีจุดเด่นของการเป็นสื่อสุดท้ายที่ลูกค้าจะเห็นก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้น โอกาสที่ลูกค้าจะเปลี่ยนใจในแบรนด์สินค้ายิ่งสูงตาม