xs
xsm
sm
md
lg

มุ่งพัฒนาฯ บ่มเพาะต้นกล้า วางรากฐานการศึกษา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มุ่งพัฒนาฯ เราไม่ได้เพียงแค่ให้การสนับสนุนด้วยการมอบเงินแก่โรงเรียนเพียงครั้งเดียวแล้วหวังจะให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะวิธีนี้ไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันองค์ความรู้ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ตอบโจทย์ความต้องการของครู นักเรียน และคนในชุมชน ร่วมด้วยการสนับสนุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อสุขอนามัย และการส่งเสริมที่จะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง”

3 ปีที่ผ่านมา การสร้างอนาคตให้แก่ชุมชนของมุ่งพัฒนาฯ มีจุดเริ่มต้นมาจากการให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กๆ ในด้านการศึกษา ซึ่งเป็นอนาคตของชุมชน สังคม และประเทศชาติ และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองที่นอกจากจะให้ความรู้แล้ว ยังจะช่วยกล่อมเกลาวางรากฐานความคิด คุณธรรม จริยธรรม และการดำเนินชีวิต ที่เหมาะสมให้แก่เด็กๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณค่า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้คนในทุกช่วงวัย เริ่มจากเด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย ดังนั้น ครอบครัวจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับทุกคน และการเริ่มต้นของเด็กที่จะเติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพก็จะต้องได้รับการศึกษาที่ดี เพื่อที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต่อไปในอนาคต


นางสาวสุวรรณา โชคดีอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มุ่งพัฒนา อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เล่าถึงแนวคิดของมุ่งพัฒนาฯ ที่มุ่งมั่นส่งมอบคุณค่ากลับคืนสู่สังคมไทยว่า แนวคิดนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของบริษัทในการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมสู่สังคม โดยมุ่งเน้นที่ “การให้อย่างยั่งยืน” ริเริ่มขึ้นภายใต้ชื่อโครงการ “มุ่ง” พัฒนา ทำดี สร้างอนาคตชุมชน ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 4 โครงการนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่มีพระราชประสงค์ให้ทุกคนมุ่งมั่นในการ “ทำดี” และเริ่มจากการปลูกฝังให้พนักงานเกิดจิตสำนึกของการทำความดี จนนำไปสู่การตอบแทนกลับคืนสู่ชุมชนของตนเอง

“ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้พนักงานมีส่วนร่วมในโครงการตั้งแต่ต้น เราจึงเชิญชวนพนักงานให้นำเสนอชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ พร้อมอธิบายเหตุผลและปัญหาที่ต้องการให้บริษัทฯ เข้าไปให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากพนักงานส่งโครงการเข้ามา หนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนบ้านหนองหัวหมู จังหวัดชลบุรี ที่กำลังจะถูกปิดตัวลงเพราะจำนวนเด็กนักเรียนน้อยเกินไป เราตัดสินใจเลือกโครงการนี้ในการร่วมพัฒนาเพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการเรียนการสอนต่อไปและอยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีการติดตามความเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดโรงเรียนก็ได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งด้วยความสำเร็จของโรงเรียนบ้านหนองหัวหมู เราจึงนำรูปแบบการพัฒนาของที่นี่มาขยายผลต่อในชื่อของ “หนองหัวหมูโมเดล” โดยในปีนี้เราได้เลือก “โรงเรียนวัดห้วยลำไย” จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะถูกปิดตัวลงคล้ายกับโรงเรียนบ้านหนองหัวหมูเป็นโครงการที่ 2 ที่เราจะเข้าไปร่วมพัฒนาเพื่อสร้างคุณค่าให้ชุมชน”


“การพัฒนาโรงเรียนวัดห้วยลำไย เริ่มต้นจากการรับฟังปัญหาและศึกษาความต้องการของโรงเรียน จนนำมาสู่การสนับสนุนการมีสุขอนามัยที่ดีและการปรับสภาพแวดล้อมซึ่งเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยเราได้สร้างห้องน้ำใหม่และปรับปรุงห้องน้ำเดิมที่มีอยู่สำหรับเด็กอนุบาลให้มีสุขลักษณะที่ดี ส่งเสริมการมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสมด้วยการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าบางส่วนภายในโรงเรียนให้เป็นแปลงผักสวนครัว และขุดสระขนาดใหญ่เพื่อเลี้ยงปลาสำหรับนำไปทำอาหารกลางวัน กระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ผ่านการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดี พร้อมมอบอุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสำหรับการออกกำลังกายของเด็กประถมวัยเพื่อเสริมสร้างพลานามัยให้แข็งแรงสมบูรณ์ เมื่อสิ่งแวดล้อมได้รับการพัฒนา เด็กๆ ก็พร้อมที่จะเรียนรู้เติบโตไปเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี และกลับมาช่วยเหลือชุมชนให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนโดยคนในชุมชน โดยเราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนนั้น” นางสาวสุวรรณากล่าวเสริม

นายธีรพงษ์ สงเคราะห์ นักวางแผนห่วงโซ่อุปทานอาวุโส บริษัท มุ่งพัฒนาฯ ซึ่งเสนอโรงเรียนวัดห้วยลำไยจากอำเภอบ้านเกิดเข้าร่วมในโครงการ “มุ่ง” พัฒนา ทำดี สร้างอนาคตชุมชน เล่าพร้อมรอยยิ้มว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประถมศึกษาเพียงแห่งเดียวที่อยู่คู่อำเภอตากฟ้ามาอย่างยาวนาน ความเสื่อมโทรมของอาคารเรียน สภาพแวดล้อม และการขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนพื้นฐานที่ทันสมัย ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากคนในชุมชนมากพอที่จะนำลูกหลานมาเรียน แม้โรงเรียนจะตั้งอยู่ริมถนนเส้นหลักที่ตัดผ่านอำเภอ อยู่ตรงข้ามกับวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนก็ตาม ซึ่งนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงเรียนนี้อาจต้องถูกปิดลง โดยไปควบรวมกับโรงเรียนในอำเภออื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า เพราะจำนวนนักเรียนมีน้อยเกินไป


“ผมดีใจมากที่โครงการของผมได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน “มุ่ง” พัฒนา ทำดี สร้างอนาคตชุมชน เพราะจากความสำเร็จของ “หนองหัวหมูโมเดล” ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าโรงเรียนวัดห้วยลำไยแห่งนี้จะได้รับการพลิกฟื้นให้กลับมามีความพร้อมสำหรับการเรียนการสอน เป็นทั้งแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้และการใช้ชีวิตของเด็กๆ ในชุมชนให้เติบโตไปเป็นคนดีมีคุณภาพของสังคม รวมถึงเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนในชุมชนในลักษณะของ “บวร” ที่มีบ้าน วัด และโรงเรียน เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายธีรพงษ์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ไม่เพียงแต่การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับโรงเรียนเท่านั้น บริษัทฯ ยังจัดกิจกรรม CSV Day เชิญชวนพนักงานทุกคนลงพื้นที่พัฒนาโรงเรียนร่วมกัน และสร้างสรรค์กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ปลุกจิตสำนึกเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่เด็กๆ ไปพร้อมกันด้วย โดยกิจกรรม CSV Day จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี


ด้านนางสาวปิยนันท์ บุญเกื้อ ผู้อำนวยการคนใหม่แห่งโรงเรียนวัดห้วยลำไย กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับการสนับสนุนจากบริษัทมุ่งพัฒนาฯ เป็นเหมือนการเริ่มต้นไปพร้อมกัน โรงเรียนยังมีพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนาได้มาก แต่เราไม่มีงบประมาณและกำลังคนมากพอ ด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้ผู้ปกครองในพื้นที่เลือกที่จะพาลูกหลานไปเรียนต่างอำเภอ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางนาน ขณะที่อัตราการสอบเข้าเรียนต่อโรงเรียนประจำจังหวัดของหัวลำไยสูงกว่า 80% ความมุ่งมั่นของมุ่งพัฒนาฯ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้โรงเรียนสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงกลับมาได้ เมื่อโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ก็เริ่มมีผู้ปกครองแวะเวียนมาสอบถามถึงเกณฑ์การรับนักเรียน และพาลูกหลานมาสมัครเข้าเรียนในระดับอนุบาลเพิ่มขึ้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตื่นตัว ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อเติบโตไปพร้อมกับชุมชนบ้านเกิดอย่างยั่งยืน




















กำลังโหลดความคิดเห็น