กรมพัฒนาธุรกิจการค้าถอนทะเบียนนิติบุคคลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นบริษัทร้าง ปีงบประมาณ 62 รวม 25,726 ราย เหตุไม่ส่งงบการเงินติดต่อกัน 3 ปี และเลิกกิจการแล้วแต่ไม่ชำระบัญชีให้เสร็จ แนะประชาชนและธุรกิจตรวจสอบก่อน ป้องกันปัญหาบริษัทไม่มีตัวตนหลอกลวงทำธุรกิจจนได้รับความเสียหาย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงสถิติการถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค ปีงบประมาณ 2562 ว่า กรมฯ ได้ดำเนินการถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาคออกจากทะเบียนรวม 25,726 ราย แยกเป็นกรุงเทพฯ จำนวน 9,168 ราย และส่วนภูมิภาคจำนวน 16,558 ราย เพื่อทำการปรับปรุงฐานข้อมูลนิติบุคคลให้เป็นปัจจุบัน และสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจที่เข้ามาตรวจสอบข้อมูล และป้องกันความเสียหายจากกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ ที่จะใช้ประโยชน์จากการเป็นนิติบุคคล
ทั้งนี้ การถอนชื่อนิติบุคคลที่เข้าข่ายจะถูกขีดออกจากทะเบียนดังกล่าว กรมฯ ได้ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาจากมูลเหตุหรือข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่ามิได้ทำการค้าขายหรือประกอบกิจการแล้วโดยพิจารณาจาก 2 ประเด็น คือ นิติบุคคลที่ไม่นำส่งงบการเงินต่อกรมฯ เพื่อแสดงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นับตั้งแต่ปีปัจจุบันย้อนหลังไป 3 ปีติดกัน และนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกแล้วแต่ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อให้การชำระบัญชีเสร็จสิ้นภายใน 3 ปี ส่งผลให้ชื่อของนิติบุคคลนั้นยังคงค้างอยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนของกรมฯ ซึ่งทำให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกับจำนวนนิติบุคคลที่ยังมีตัวตนอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การคงชื่อนิติบุคคลไว้ในระบบอาจส่งผลต่อประชาชน ผู้ร่วมค้า หรือผู้ร่วมลงทุนที่อาจเข้าใจผิดว่านิติบุคคลเหล่านั้นยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ และก่อให้เกิดความเสียหายจากการทุจริตหลอกลวงตามมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อนิติบุคคลได้ถูกถอนทะเบียนร้างแล้วจะถือว่าสิ้นสภาพนิติบุคคล แต่ความรับผิดชอบของหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นยังคงมีต่อไป แต่นิติบุคคลที่ถูกถอนชื่ออาจฟื้นคืนสู่ทะเบียนได้ โดยการร้องขอต่อศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน
“การก่ออาชญากรรมด้านการหลอกลวงให้ร่วมทำธุรกิจ หรือการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจที่ไม่มีตัวตน โดยอ้างว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนเกิดคดีความฟ้องร้องกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นประเด็นที่กรมฯ ได้ให้ความสำคัญในการป้องกัน ปราบปราม ไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น และขยายวงลุกลามไปกระทบเศรษฐกิจของประเทศ” นายพูนพงษ์กล่าว
สำหรับการประกอบธุรกิจหรือติดต่อทำธุรกิจในปัจจุบัน กรมฯ ขอแนะนำให้ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนทั่วไปต้องตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลก่อนการลงทุนหรือดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจทุกครั้งผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1. สายด่วน 1570 2. www.dbd.go.th หัวข้อ DBD Datawarehouse และ 3. Application “DBD e-Service” ผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อเช็กสถานะนิติบุคคลได้ตลอด 24 ชั่วโมง