“พาณิชย์” ยันเดินหน้าฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู แม้ไม่มีอังกฤษต้องลุยต่อ เหตุเป็นตลาดสำคัญ หากช้าเจอเวียดนาม-สิงคโปร์แย่งตลาดทั้งสินค้าและลงทุน ส่วนอังกฤษหากหลุดจากอียูมีแผนรับมือ เล็งใช้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ก่อนปูทางทำเอฟทีเอในอนาคต ด้านเอกชนหนุนเร่งเจรจา หวั่นช้าสินค้าไทยเสียเปรียบ โดยเฉพาะประมงและเกษตร ที่ไทยยังเจอภาษี 20% แต่เวียดนาม สิงคโปร์ ไม่มี
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่องโอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่โรงแรมไบรท์ตัน แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี ว่าการจัดระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นเวทีแรกที่ได้ออกต่างจังหวัด ก่อนที่จะเดินสายไปยังภูมิภาคอื่นๆ อีก ได้แก่ เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น ก่อนที่จะปิดท้ายที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยได้ย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นว่าไทยต้องเดินหน้าฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เพราะแม้ปัจจุบันอียูจะมีปัญหาเรื่องที่อังกฤษจะออกจากอียู (เบร็กซิต) แต่อียูก็ยังเป็นตลาดสำคัญ ที่มีถึง 27 ประเทศ หากไม่รวมอังกฤษ และอนาคตอาจจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้ การทำเอฟทีเอกับอียูยังเป็นการเปิดตลาดให้กับสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น และยังสร้างโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากอียู และป้องกันไม่ให้การลงทุนไหลไปยังประเทศอื่นที่อียูมีเอฟทีเอด้วย เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ รวมถึงอินโดนีเซียที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา และมีความคืบหน้าโดยลำดับ
“ถ้าไทยช้า เวียดนามแซงหน้าแน่ ความเป็นศูนย์กลางของไทยจะกระทบ เพราะอียูจะไม่มองไทย จะหันไปยังเวียดนาม แล้วใช้เวียดนามกระโดดไปยังประเทศอื่น แต่ถ้าไทยมีเอฟทีเอ อียูจะยังคงใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง และใช้ไทยกระจายไปยังประเทศอื่นแทน เท่าที่พูดคุยกับทูตอียูที่อยู่ในไทย ทุกคนก็สนับสนุน เห็นไทยเป็นศูนย์กลาง โดยหลังจากนี้จะเร่งทำข้อสรุปและเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจ ถ้าไทยสรุปจะฟื้นการเจรจา อียูเห็นตรงกันฟื้นการเจรจาด้วย ก็จะเริ่มเจรจากันปีหน้า ใช้เวลา 1-2 ปี น่าจะสรุปผลเข้ารัฐสภา เร็วสุดน่าจะ 2 ปี” นางอรมนกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดอังกฤษ ปัจจุบันได้มีการสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการว่ามีความคิดเห็นยังไงกับตลาดอังกฤษ สนใจอะไรในตลาดอังกฤษ มีปัญหาอุปสรรคอะไร อังกฤษก็ทำ ไทยก็ทำ คาดว่าจะได้ผลสรุปในปลายปีนี้ เมื่อทราบความต้องการแล้วก็จะรู้ว่าผู้ประกอบการคิดอย่างไร และไทยควรจะมีท่าทีต่ออังกฤษอย่างไร ซึ่งในส่วนของการค้าน่าจะใช้วิธีการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพื่อร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และด้านเศรษฐกิจ จากนั้นค่อยยกระดับไปสู่การทำเอฟทีเอ หากในที่สุดแล้วอังกฤษจะออกจากอียู แต่ในการทำเอฟทีเอก็ต้องทำการบ้าน ทำการศึกษาผลดี ผลเสียก่อน เบื้องต้นได้รับแจ้งจากอังกฤษว่าจะเน้นการทำเอฟทีเอกับประเทศที่มีเอฟทีเอกับอียูก่อน เพราะเริ่มต้นได้ง่าย หากไทยมีเอฟทีเอกับอียูแล้ว กับอังกฤษก็ไม่ยาก
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ถ้าไทยไม่ทำเอฟทีเอกับอียู การแข่งขันไม่ดีแน่ เพราะขณะนี้เวียดนามและสิงคโปร์ทำแล้ว ถ้าไม่รีบจะกระทบการส่งออก เช่น กุ้ง อาหารทะเล ผัก ผลไม้ ไทยยังต้องเสียภาษี 20% แต่เวียดนามและสิงคโปร์ไม่ต้องเสีย ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มเดียวกับไทย แม้ปัจจุบันสินค้าประมงไทยจะหลุดจาก IUU เวียดนามยัง แต่เชื่อว่าอนาคตคงแก้ไขได้ ส่วนผัก ผลไม้ แม้จะติดปัญหาเรื่องคุณภาพมาตรฐานก็เชื่อว่าจะแก้ได้ และเมื่อแก้ได้หมด ไทยคงแข่งได้ลำบาก
“เวลาในการเจรจา 2 ปี ถือว่าช้า เพราะคู่แข่งจะทำตลาดไปได้ก่อน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ตลาดอียูซึ่งเป็นตลาดปีละหลายแสนล้านกระทบแน่ เราต้องรักษาไว้ โดยเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ยิ่งช้าจะยิ่งเจ็บ 2 ปี อียูไปเวียดนาม ไปสิงคโปร์ หรือไปประเทศในอาเซียนที่กำลังเจรจาเอฟทีเอ อย่างอินโดนีเซีย ไทยจะทำยังไง ส่วนเอ็นจีโอที่ยังเห็นค้าน หรือกังวลก็ต้องมาคุยกันว่าจะแก้กันยังไงเพื่อให้เกิดประโยชน์กับไทยที่สุด” นายชูศักดิ์กล่าว