xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผย MPI ส.ค.หดตัว 4.4% หวังเม็ดเงินกระตุ้น ศก.ช่วงพยุงให้ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิษสงครามการค้าและบาทแข็งค่าส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค.หดตัว 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สศอ.คาดหวังว่ามาตรการกระตุ้น ศก.รัฐซึ่งรวมถึงชิม ชอป ใช้ จะช่วยประคอง ศก.ช่วงที่เหลือไม่ให้แย่ไปกว่านี้

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ประจำเดือน ส.ค. 62 ว่า MPI อยู่ที่ระดับ 100.58 หดตัวลง 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา MPI อยู่ที่ 105.22 โดยปัจจัยหลักยังคงมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและยังขยายวงสู่ประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผลจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องส่งผลกระทบภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ไม่รวมทองคำ หดตัวลง 9.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐวงเงิน 316,813 ล้านบาทซึ่งรวมถึงมาตรการชิม ช้อป ใช้ จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยช่วงท้ายปีที่เหลือปรับตัวเพิ่มขึ้น

“อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ส.ค.อยู่ที่ 65.75% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 69.11% ทำให้ดัชนีฯยังคงลดลง ซึ่งหวังว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐจะทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 4-5 รอบ ทำให้เกิดกำลังซื้อที่จะประคองภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่ให้แย่ลงได้ หากไม่มีทิศทางเป็นบวกก็มีความเป็นไปได้ที่ สศอ.จะต้องทบทวนปรับประมาณการดัชนีเอ็มพีไอและผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ลงจากปัจจุบันคาดไว้อยู่ที่ 0-1% หรือค่ากลางอยู่ที่ 0.5%”นายอดิทัตกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 62 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ลดลง 8.21 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลง 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่นถุงมือยางถุงมือตรวจลดลง 21.26% เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และน้ำตาล
ส่วนอุตสาหกรรมที่การผลิตยังขยายตัวดีได้แก่ ฮาร์ตดิส ไดร์ท เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น12.66% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา เพราะฐานการผลิตในประเทศมาเลเซียปิดตัวลง อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.04% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ปลา กุ้งและปลาหมึกแช่แข็ง มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น น้ำดื่ม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.94% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ยกเว้นน้ำแร่ เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีผู้ผลิตบางรายปิดซ่อมบำรุงใหญ่ อีกทั้งรัฐบาลเตรียมขึ้นภาษีความหวานรอบที่ 2 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 62 นี้ รวมถึงกระแสการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น