ขยะล้นวัด ทส.ชวนคนไทย “ทำบุญให้ได้บุญ ทำบุญลดขยะพลาสติก”
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า ปัจจุบันขยะพลาสติกซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายยากใช้เวลาในการย่อยสลายกว่า ๔๕๐ ปี กำลังสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นในทุกขณะ ซึ่งปัจจุบันพบว่า หนึ่งในสถานที่ที่กำลังประสบกับปัญหาขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก คือ วัด หรือศาสนสถานของพุทธศาสนิกชนชาวไทย
จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า ปัจจุบันมีวัดทั่วประเทศกว่า ๔๐,๐๐๐ วัด เป็นวัดในเขตกรุงเทพมหานครกว่า ๔๐๐ วัด หากแต่ละวัดมีปริมาณขยะในแต่ละวันเฉลี่ย ๕๐-๖๐ กิโลกรัม (ข้อมูลปริมาณขยะเฉลี่ยต่อวันของวัดจากแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ) เท่ากับว่าใน ๑ วันจะมีปริมาณขยะในวัดเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครสูงถึง ๒๐,๐๐๐-๒๔,๐๐๐ กิโลกรัมต่อวัน และหากมีการจัดงานหรือการจัดกิจกรรมในวัดปริมาณขยะในแต่วันก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว หรือประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัมต่อวัน
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะและขยะพลาสติกในวัดดังกล่าว จึงมีนโยบายมอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รณรงค์เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการลดการใช้ถุงพลาสติกและถุงพลาสติกหู้หิ้วใส่อาหารถวายพระในการทำบุญใส่บาตรในชีวิตประจำวัน ตลอดจนในโอกาสเทศกาลทำบุญใหญ่เนื่องในวันออกพรรษาที่กำลังจะมาถึงนี้
ปัจจุบันวัดหลายแห่งในประเทศไทยเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดการขยะที่หลายแห่งมีการคัดแยกขยะเพื่อนำขยะที่ยังมีประโยชน์กลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดเป็นจำนวนมาก เช่น ขยะเศษอาหารนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการบำรุงต้นไม้ในวัด การคัดแยกขยะพลาสติก โดยเฉพาะขวดน้ำพลาสติกเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการ รีไซเคิล การส่งเสริมให้ใช้หรีดทางเลือกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็นต้น
จากการประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดล่าสุด ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มีวัดที่ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมกว่า ๑๑๒ วัด โดยมีวัดที่อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมกว่า ๔๓ วัด อาทิ วัดศรีคำชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ วัดเทพมงคลทอง อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ วัดศรีประทุมวนาราม อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เป็นต้น
ซึ่งนอกจากการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในวัด เช่น คุณภาพอากาศ คุณภาพเสียง คุณภาพน้ำ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดที่ต้องมีการจัดการให้มีคุณภาพที่ดีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานด้วยเช่นกัน