กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมพร้อมเดินหน้าเจรจาอัปเกรดเอฟทีเอกับจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เผยส่วนใหญ่เน้นการเปิดเสรีการค้าสินค้าเพิ่มเติม พร้อมสรุปผลการทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา หลังจากที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบร่วมกับคู่เจรจาว่าเอฟทีเอที่อาเซียนทำกับคู่เจรจาหลายกรอบ ทั้งอาเซียน-จีน, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ได้มีผลบังคับใช้มานานแล้ว และยังไม่มีการปรับปรุงความตกลง จึงต้องมีการอัปเกรดการเปิดเสรีให้มากเพิ่มขึ้น ยกเว้นอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ได้มีการอัปเกรดเอฟทีเอไปแล้ว และขณะนี้กำลังรอการบังคับใช้
สำหรับเอฟทีเอกรอบอาเซียน-จีน จะมีการหารือถึงการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม โดยจะมีการเปิดเสรีในสินค้าส่วนที่เหลือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง ซึ่งคงเหลือประมาณ 500 รายการ และปัจจุบันภาษีในส่วนของสินค้าอ่อนไหวเหลือ 0-5% แล้ว ซึ่งจะต้องผลักดันให้ภาษีเหลือ 0% ส่วนภาษีสินค้าอ่อนไหวสูงเหลือไม่เกิน 50% จะต้องหาทางปรับลดลงอีก และจะหารือการเปิดเสรีการลงทุน เพราะที่ผ่านมามีแต่การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ยังไม่มีการเปิดเสรี จึงต้องเจรจาเปิดเสรีในสาขาต่างๆ คาดว่าจะเริ่มได้ในปีหน้า
ส่วนอินเดีย จะเริ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้า ที่ปัจจุบันมีการลดภาษีสินค้าระหว่างกันแล้วประมาณ 79% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด เพื่อทำให้เอฟทีเออาเซียน-อินเดียง่ายและสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น และจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อกำกับดูแลการทบทวนดังกล่าวด้วย ขณะที่เกาหลีใต้ จะเร่งสรุปผลการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมให้ได้ และกับอาเซียนกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จะหารืออัปเกรดเอฟทีเอและเพิ่มประเด็นใหม่ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พิธีการศุลกากร บริการทางการเงินและโทรคมนาคม เป็นต้น
นอกจากนี้ จะมีการติดตามความเป็นไปได้ในการจัดทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ที่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้มาแล้ว โดยจะมีการหารือถึงการดำเนินการขั้นต่อไประหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโส และจะนำผลรายงานต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดาเพื่อพิจารณาต่อไป
ก่อนหน้านี้ อาเซียนได้มีการอัปเกรดเอฟทีเอกันมาบ้างแล้ว โดยอาเซียนจีนได้มีการจัดทำพิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรี และเริ่มบังคับใช้กฎเฉพาะรายสินค้าฉบับใหม่ตั้งแต่ ส.ค. 2562 และญี่ปุ่นได้จัดทำพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่มการเปิดเสรีการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคลากร และการลงทุน และขณะนี้สิงคโปร์ได้ให้สัตยาบันแล้ว รอแค่ญี่ปุ่นให้สัตยาบันก็จะมีผลบังคับใช้ทันที