xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมแก้ดินเค็ม ช่วยเกษตรกรใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางปราณี สีหบัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางระบบการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การจัดการฟื้นฟูดินเค็มในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มุ่งเน้นดำเนินการป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม ควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาหรือความรุนแรงเพิ่มขึ้น ผ่านโครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย โดยนำผลสำเร็จของโครงการป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มในพื้นที่ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่เรียกว่า “ทุ่งเมืองเพีย” มาเป็นโมเดลในการขยายผลการแก้ไขปัญหาดินเค็มในพื้นที่ 8 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่ดินเค็มในการทำการเกษตรได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

สำหรับวิธีดำเนินการนั้นมีทั้งการจัดปรับรูปแบบโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย การจัดรูปแปลงนาให้มีความสม่ำเสมอทั้งแปลง มีคันนาขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำ จัดทำระบบการชะล้างเกลือร่วมกับทำคันคูเพื่อระบายน้ำ เรียกว่า ระบบระบายเกลือแบบคลองเปิด OPEN DRAIN โดยในคลองจะมีบ่อหนึ่งที่เมื่อน้ำไหลลงไปเกลือซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าน้ำจึงตกตะกอนอยู่ข้างล่างบ่อ เรียกว่า บ่อตะกอนเกลือ เวลาฝนตกลงมาปริมาณมาก น้ำล้นบ่อก็จะไหลไปสู่แม่น้ำลำคลองต่อไป ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยให้เกลือที่สะสมอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกรถูกชะล้างลงไปในคลองตามทิศทางที่กำหนด ไม่ไหลไปอย่างไร้ทิศทาง ช่วยลดการแพร่กระจายดินเค็มไปในพื้นที่อื่น

นอกจากการปรับโครงสร้างพื้นฐาน ยังจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นทนเค็ม เช่น กระถินอคาเซีย หญ้าดิ๊กซี่ ยูคาลิปตัส ซึ่งพืชเหล่านี้จะช่วยดูดซับความเค็มสะสมไว้ที่ต้น เมื่อถึงเวลาที่ตัดต้นไม้ออกไปความเค็มก็จะออกไปด้วย เป็นการลดปริมาณความเค็มในพื้นที่ลงได้อีกแนวทางหนึ่ง เมื่อดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูดินเค็มอย่างต่อเนื่อง ปัญหาดินเค็มก็จะค่อยๆ ลดลง เกษตรกรจะสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเกษตรกรที่ยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น