“กรมราง”ถกแนวทางลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า คาดสรุปเสนอ”รมว.คมนาคม”ในก.ย. เริ่มใช้ปลายปี 62 ตั้งโจทย์ ลดราคาช่วงนอกเวลาเร่งด่วน ดึงผู้โดยสารใช้เพิ่ม และให้ สายสีม่วง และแอร์พอร์ตลิงก์ ทำตั๋วเดือน (จำกัดจำนวนเที่ยว) จูงใจ
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง ครั้งที่ 1/2562 ว่า ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้งหมดมาร่วมพิจารณาแนวทางการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางในระบบขนส่งมวลชนโดยมีการลดภาระค่าครองชีพด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ในเบื้องต้น ได้ข้อสรุป 2 แนวทาง ได้แก่
1. การส่งเสริมการใช้ตั๋วเดือน (จำกัดจำนวนเที่ยว) ของผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในรายที่ยังไม่มีการดำเนินงานหรือยังไม่เปิดให้สามารถดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนใช้บริการตั๋วแบบรายเดือน ได้แก่ การเดินทางในโครงข่ายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (สายสีแดง) และโครงข่ายรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) พิจารณาลดอัตราสูงสุด เช่น 20 25 30 บาท
ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางและเห็นชอบในหลักการร่วมกันในการส่งเสริมมาตรการดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ได้แก่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (รถไฟฟ้า BTS) ที่ให้บริการส่งเสริมการเดินทางโดยระบบตั๋วโดยสารแบบรายเดือน โดยผู้ให้บริการรายอื่นๆ ได้รับหลักการในที่ประชุม ซึ่งต้องนำเสนอในรายละเอียดต่อคณะกรรมการของแต่ละหน่วยงานโดยเร็วในลำดับต่อไป
2. การส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางในช่วงเวลาที่ความจุของรถไฟฟ้าไม่เต็มประสิทธิภาพ (Non - Peak hours) หรือในช่วงนอกระยะเวลาเร่งด่วน ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนเดินทางในช่วงระยะเวลาเร่งด่วน (Peak hours) ในช่วงเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง จะมีผู้โดยสาร 55 % ของการเดินทาง ส่วนช่วงนอกระยะเวลาเร่งด่วน (Non - Peak hours) ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 13 ชั่วโมงนั้นจะมีปริมาณผู้โดยสาร 45% ของการเดินทาง อีกทั้งกรอบระยะเวลาที่กำหนดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนกับนอกเวลาเร่งด่วนมีความแตกต่างกัน
ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่วมกันในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้โครงข่ายรถไฟฟ้าที่เต็มประสิทธิภาพในช่วงชั่วโมงที่มีความจุของรถไม่เต็มประสิทธิภาพให้เติมเต็มการให้ประโยชน์ซึ่งจะก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางให้ประชาชนได้ใช้บริการได้เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้แต่ละหน่วยงานจัดทำรายละเอียด เช่น อัตราค่าโดยสารขั้นสูงในช่วงนอกระยะเวลาเร่งด่วน (Non - Peak hours) และการกำหนดกรอบเวลาของชั่วโมงเร่งด่วนให้ตรงกันในแต่ละระบบ รวมทั้งรูปแบบที่เหมาะสมของตั๋วรายเดือน ราคาต่อเที่ยวที่เหมาะสม รวมทั้งกรอบระยะเวลาที่สามารถดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว และ ประชุมคณะกรรมการอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์
และคาดว่านำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในปลายเดือน กันยายน เพื่อเริ่มดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ภายในปลายปี 2562
สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางให้ใช้ระบบขนส่งทางรางได้มากขึ้น การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารในระบบเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหามลพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
@แอร์พอร์ตลิงก์พร้อมลดค่าตั๋ว 40%
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รฟฟท. ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กล่าวว่า มาตรการลดลดค่าครองชีพ ในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ สามารถลดราคาลงได้ 40 % แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ระหว่างเวลา 05.30 น.-07.00 น. ช่วงที่ 2 ระหว่างเวลา 10.00 น. - 17.00 น. และช่วงที่ 3 ระหว่างเวลา 20.00 น. - 24.00 น. จากอัตราค่าโดยสารปกติ เริ่มต้นที่ 15-45 บาท เหลือ 15 - 25 ตามระยะทาง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 15-45 บาท ส่วนบัตรรายเดือนคาดว่าจะอยู่ที่ราคา 300-500 บาท
คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ รฟท. พิจารณาอนุมัติภายในเดือนก.ย. นี้ นอกจากนี้คาดว่าในเดือนธ.ค. นี้ จะสามารถนำระบบตั๋วร่วม แมงมุมมาใช้บริการของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ได้
สำหรับปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ในปัจจุบัน หลังจากนำขบวนรถมาให้บริการครบทั้ง 9 ขบวน สามารถให้บริการผู้โดยสารทุก 8 นาที เฉลี่ยมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 75,000 เที่ยวคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 14% ที่มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 65,000 - 68,000 เที่ยวคนต่อวัน
ในช่วงวันจันทร์-พฤหัสบดีมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 80,000 เที่ยวคนต่อวัน วันศุกร์ใช้บริการประมาณ 90,000 เที่ยวคนต่อวัน หรือ
สำหรับหน่วยงานที่ร่วมประชุมครั้งนี้ ได้แก่ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักปลัดกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส