xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวเหนียว-ผัก-ผลไม้แพง ดันเงินเฟ้อ ส.ค.เพิ่ม 0.52%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"พาณิชย์" เผยอาหาร ทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ราคาขึ้น ดันเงินเฟ้อ ส.ค.เพิ่ม 0.52% แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เหตุราคากลุ่มพลังงานลดช่วยฉุด คาดเงินเฟ้อทั้งปีขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่เกิน 0.8-0.9% จากปัจจัยหมวดอาหารที่จะราคาสูงขึ้น แต่สินค้าอุปโภคบริโภคทรงตัว และพลังงานลด ยันไม่มีสัญญาณเงินฝืด

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ส.ค. 2562 เท่ากับ 102.27 สูงขึ้น 0.52% เมื่อเทียบ ส.ค. 2561 แต่ชะลอตัวลงจากเดือน ก.ค. 2562 ที่สูงขึ้น 0.98% โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือน ส.ค.สูงขึ้นมาจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดอาหารเป็นหลัก โดยสูงขึ้น 5.15% ขณะที่กลุ่มพลังงานลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยลดลง 5.16% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.49% และเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) เพิ่มขึ้น 0.87%

สำหรับเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 2562 ที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.63% สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้ เพิ่ม 8.69% ผักสด เพิ่ม 4.99% จากการที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และฐานราคาปีก่อนค่อนข้างต่ำ ข้าวเหนียวและข้าวเจ้า เพิ่ม 7.06% จากปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย แต่ความต้องการมีมากขึ้น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 3.63% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 1.82% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.97% นอกบ้าน เพิ่ม 0.96% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.52% แต่เครื่องประกอบอาหาร ลด 0.90%

ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.67% จากการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง 8.15% การขนส่งและการสื่อสาร ลด 2.22% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.09% การรักษาและบริการส่วนบุคคล ลด 0.03% แต่ค่าโดยสารสาธารณะ เพิ่ม 6.19% เคหสถาน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน เพิ่ม 0.30% การบันเทิง การอ่านและการศึกษา เพิ่ม 0.79% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.02%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดเป็นหลัก แต่สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ค่อนข้างทรงตัวและเปลี่ยนแปลงไม่มาก ขณะที่ราคาพลังงานน่าจะลดลงต่อเนื่อง ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลง โดยประเมินว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8-0.9% จากกรอบที่คาดไว้ที่ 0.7-1.3% ทำให้เงินเฟ้อจะขยายตัวต่ำอีกครั้ง โดยเงินเฟ้อทั้งปี 2558 ลบ 0.9% ปี 2559 เพิ่ม 0.19% ปี 2560 เพิ่ม 0.66% และปี 2561 เพิ่ม 1.07%


กำลังโหลดความคิดเห็น