กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศประเมินสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) แบบไม่มีข้อตกลงส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยและชิงตลาดสหราชอาณาจักรได้เพิ่มขึ้น เหตุมีการเก็บภาษี 0% หรือยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ากว่า 87% ของรายการสินค้าทั้งหมด ส่วนสินค้าที่เก็บภาษีอยู่จะเก็บในอัตราที่เท่ากันหรือต่ำกว่า และคู่แข่งอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน ส่วนสินค้าที่มีโควตาก็ได้สิทธิ์เท่าเดิมหรือมากกว่า เตรียมชวนทำ FTA สร้างโอกาสให้ไทยต่อ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามกรณีที่สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิต แบบไม่มีข้อตกลง (no-deal) ในวันที่ 31 ต.ค. 2562 และการที่สหราชอาณาจักรได้ประกาศอัตราภาษีนำเข้าที่จะใช้เป็นการชั่วคราว (เป็นเวลา 1 ปี) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ภายหลังออกจากการเป็นสมาชิกอียู โดยพบว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยที่ยังไม่มีความตกลงการค้ากับสหราชอาณาจักรจะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราเดียวกัน โดยจะเก็บภาษีที่ 0% หรือยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้ากว่า 87% ของรายการสินค้าทั้งหมด สำหรับสินค้าที่เหลือ เช่น ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่ และเป็ด) เนื้อหมู เนื้อแกะ ข้าว น้ำตาล เซรามิก รถยนต์ เอทานอล เนย และชีส เป็นต้น จะยังคงเก็บภาษีนำเข้าอยู่ แต่จะเก็บในอัตราที่เท่ากันหรือต่ำกว่าที่เคยเก็บตอนที่ยังเป็นสมาชิกอียู
ทั้งนี้ ภายหลังเบร็กซิตคาดว่าสหราชอาณาจักรจะปรับกฎระเบียบการค้าและการลงทุนให้ยืดหยุ่นและผ่อนคลายกว่ากฎระเบียบของอียูเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และเพื่อให้ภาคการผลิตและการค้าของสหราชอาณาจักรเกิดความต่อเนื่อง และจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้าไทย 4 รายการ ที่เคยถูกเก็บในช่วงที่เป็นสมาชิกอียู เช่น ข้าวโพดหวาน ตาข่ายใยแก้ว รถลากพัลเลต และข้อต่อท่อเหล็กอบเหนียวสลักเกลียว เป็นต้น
นางอรมนกล่าวว่า จากการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แล้ว เชื่อว่าการออกจากสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักรแบบไม่มีข้อตกลงจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองขององค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ที่ประเมินว่าจะเป็นผลบวกต่อไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออก และจะสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในสหราชอาณาจักรได้เพิ่มขึ้นถึง 3,930 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 107% ของการส่งออกไปสหราชอาณาจักร
“ที่เป็นผลดีต่อผู้ส่งออกไทย เพราะสินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยส่งออกจะสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ จากที่อาจเคยเสียเปรียบจากการไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) หรือไม่ได้รับแต้มต่อภาษีในกรอบเอฟทีเอ ซึ่งผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยควรศึกษาตลาด และแสวงหาโอกาสจากการยกเลิกภาษีของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อัญมณี เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น”
ส่วนสินค้าที่สหภาพยุโรปกำหนดโควตาภาษีกับไทย เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเจรจากับอียูเเละสหราชอาณาจักรเรื่องการปรับโควตาภาษีใหม่ภายใต้ข้อผูกพันองค์การการค้าโลก (WTO) จากกรณีเบร็กซิต เพื่อให้ไทยได้รับจัดสรรปริมาณโควตารวม (อียูและสหราชอาณาจักรรวมกัน) ไม่น้อยกว่าเดิม สะท้อนปริมาณการค้าจริงระหว่างไทยกับสมาชิกอียูที่เหลือ 27 ประเทศ และสหราชอาณาจักรให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน กรมฯ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ และหารือกับฝ่ายสหราชอาณาจักรเรื่องโอกาสที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกันในอนาคตหลังเบร็กซิตด้วย