“พาณิชย์” เกาะติดกรณีจีนอาจจำกัดการส่งออกแร่หายากไปยังตลาดสหรัฐฯ ภายใต้ศึกสงครามการค้า พบเป็นโอกาสส่งออกของไทย มีสินค้า 2 รายการที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้น หากสหรัฐฯ ต้องการหาแหล่งนำเข้าใหม่
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์กรณีที่จีนอาจมีมาตรการจำกัดการส่งออกแร่หายาก (Rare Earth Elements : REEs) ไปยังสหรัฐฯ เพื่อเป็นข้อต่อรองในสงครามการค้า โดยพบว่าในระยะสั้นอาจไม่กระทบต่อสหรัฐฯ มากนักเนื่องจากยังคงมีแร่หายากสำรองไว้อยู่ แต่ในระยะยาว การที่จีนลดการส่งออกอาจทำให้ราคาสูงขึ้น และจะเป็นการกระตุ้นให้สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ หันไปทำเหมืองแร่เองได้
“แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีการพึ่งพาการนำเข้าแร่หายากจากจีนค่อนข้างสูงในหลายสินค้า แต่ในภาพรวมการผลิตแร่หายาก มีหลายประเทศผลิตได้และส่งออกไปทดแทนจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้ การที่จีนจะระงับส่งออกธาตุหายากไปสหรัฐฯ จึงยังไม่เป็นเงื่อนไขหลักที่จะทำให้สหรัฐฯ จะรีบทำข้อตกลงการค้ากับจีน และสหรัฐฯ เองยังจะมีมาตรการป้องกันปัญหา ด้วยการหาแหล่งนำเข้าใหม่ ซึ่งอาจจะเร่งเจรจากับประเทศที่มีกำลังการผลิตรองจากจีน รวมทั้งการฟื้นฟูอุตสาหกรรมผลิตแร่หายากในประเทศที่ถูกปิดจากด้านสิ่งแวดล้อม”
อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าว พบว่าไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าโลหะแรร์เอิร์ท สแคนเดียมและอิตเทรียม จะผสมระหว่างกันหรือระหว่างโลหะเจือของโลหะดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม (พิกัด 280530) และสารแร่ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่นๆ (พิกัด 253090) ไปทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ ได้ ซึ่ง 2 รายการดังกล่าว ไทยส่งออกไปโลกรวม 42.9 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ส่งออกสินค้าในกลุ่มแร่หายากไปตลาดโลกรวม 54.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนรวม 9.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหากสหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องหาแหล่งนำเข้าเพิ่มเติม ไทยอาจเป็นตัวเลือกหนึ่ง ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีและทำให้สหรัฐฯ ไม่เพ่งเล็งในการใช้มาตรการทางการค้ากับไทย
สำหรับแร่หายากมีความสำคัญในการใช้ผลิตสินค้าที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเพื่อการบริโภค การอุตสาหกรรม การทหาร การผลิตสมาร์ทโฟน เครื่องมือการสื่อสาร การผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงเครื่องบินขับไล่ รถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอากาศยาน