xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกฟื้น ก.ค.เพิ่ม 4.28% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ส่งออก ก.ค.ฟื้น เพิ่มขึ้น 4.28% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ได้อานิสงส์การส่งออกทองคำพุ่ง และผลกระทบจากสงครามการค้าเริ่มนิ่ง ทำให้ยอดส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ตลาด และสินค้าดาวรุ่งอย่างผลไม้ขยายตัวได้ดี “พาณิชย์” มั่นใจทั้งปีโตเป็นบวกได้ แม้หลายหน่วยงานประเมินติดลบ แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง ทั้ง “ทรัมป์” เปิดศึกใหม่ ราคาน้ำมันและบาทแข็ง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ค. 2562 มีมูลค่า 21,205 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.28% ถือเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562 ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น 5.37% และหลังจากนั้นมีอัตราการขยายตัวติดลบมาโดยตลอด ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 21,095 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.67% เป็นปรับขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือนนับจากเดือน ม.ค. 2562 ที่เพิ่มขึ้น 13.99% ทำให้เกินดุลการค้า 110 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อรวมยอดการส่งออก 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 144,175.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.91% นำเข้ามีมูลค่า 140,122.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.81% และเกินดุลการค้า 4,054 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือน ก.ค.กลับมาขยายตัว เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาทองคำตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น จนทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึง 406% และหากหักทองคำออก การส่งออกในดือน ก.ค.ก็ยังเพิ่มขึ้น 1.6% ขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน เริ่มนิ่ง สินค้าไทยสามารถส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ เป็นบวกได้พร้อมกันทั้ง 2 ตลาด โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.8% จีนเพิ่ม 6.2% รวมถึงมีสินค้าดาวรุ่ง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง สินค้าเกษตรแปรรูป และผลไม้ สามารถขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น

ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงคลัง ปรับลดเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 2562 เป็นขยายตัวติดลบ ถือเป็นข้อมูลและการประเมินของแต่ละหน่วยงาน แต่กระทรวงพาณิชย์ยังมั่นใจว่าตัวเลขส่งออกปีนี้เป็นบวก โดยหากการส่งออกขยายตัวที่ 0% มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนที่เหลือ ต้องทำได้ต่อเดือนอยู่ที่ 21,756 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าทำได้มากกว่านี้ การส่งออกก็จะขยายตัวเป็นบวก

อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใน 3 ประเด็นใหญ่ ที่อาจทำให้ส่งออกไทยมีความผันผวน คือ สถานการณ์สงครามการค้าที่ยังไม่แน่นอนว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะขยายไปประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีนอีกหรือไม่ โดยเฉพาะยุโรป ราคาน้ำมันที่ยังต่ำกว่าปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และความผันผวนของค่าเงินบาท เนื่องจากต้องติดตามว่าผลจากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยว่าจะช่วยประคองไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่านี้หรือไม่

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในเดือน ก.ค. 2562 พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 1.4% โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี เช่น ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 26.1% ยางพารา เพิ่ม 9.6% มันสำปะหลัง เพิ่ม 7.8% ไก่สด แข่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 8.7% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 7.3% ส่วนที่ติดลบ เช่น ข้าว ลด 27.2% น้ำตาลทราย ลด 25.4% ทูน่ากระป๋อง ลด 13.6% เป็นต้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม 6% เช่น ทองคำ เพิ่ม 406.9% อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เพิ่ม 28.2% เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เพิ่ม 17% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 4.2% ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น สินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมัน ลด 14.2% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 5.9% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลด 14% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 2.9%

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า สหรัฐฯ กลับมาเพิ่มขึ้น 9.8% หลังจากเดือนก่อนหน้าหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ญี่ปุ่น เพิ่ม 8% สูงสุดในรอบ 9 เดือน สหภาพยุโรป (อียู) (15 ประเทศ) ลด 2.4% จีน เพิ่ม 6.2% เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน เอเชียใต้ เพิ่ม 1.1% ตะวันออกกลาง กลับมาเพิ่ม 5% สูงสุดในรอบ 16 เดือน ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 20.8% ส่วนตลาด CLMV ลดลง 9.7% จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปลดลง อาเซียน 5 ประเทศ ลด 8.5% ลาตินอเมริกา ลด 17.4% รัสเซียและ CIS ลด 23.2%


กำลังโหลดความคิดเห็น