xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม”สั่งลุยคุมรถบรรทุกวิ่งแค่ 4 ชม. - เคลียร์สิบล้อ 5 หมื่นคันพ้นถนน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศักดิ์สยาม”ขีดเส้น วงในถนนวงแหวนรอบนอกฯ อนุญาตให้รถบรรทุก 10 ล้อวิ่ง ได้แค่ 4 ชม. ระหว่าง เที่ยงคืน-ตี 4 สั่ง สั่งขบ.สนข. เปรียบเทียบข้อมูลและต้นทุนผู้ขนส่ง พร้อมแนวทางในการเยียวยา ส่วนรถที่เคยยกเว้นบางประเภทให้เปลี่ยนรถเล็กวิ่งแทน เร่งสรุป 1 ด.ชงคจร.ตัดสิน มั่นใจรถสิบล้อ 5 หมื่นคันหายจากถนน แก้รถติดได้


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานแปรนโยบายเร่งด่วนไปสู่การปฏิบัติของกระทรวงคมนาคมว่า ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมทางหลวง(ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใน 2 ประเด็น คือ การกำหนดความเร็วบนถนนสายหลักไม่เกิน 120 กม./ชม. และการปรับเวลาห้ามรถบรรทุกวิ่งในเมืองในช่วงเวลากลางวัน โดยให้ผู้เกี่ยวข้องบูรณาการข้อมูลเพิ่มเติม ภายใน 1 เดือน เพื่อประชุมร่วมกันอีกครั้ง ก่อนสรุปนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อออกเป็นกฎหมาย และกฎกระทรวงที่เกี่ยวช้องต่อไป

ซึ่งในส่วนของการจำกัดเวลาห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งในเขตกทม.และปริมณฑลนั้น ให้ใช้ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตกและตะวันออก เป็นตัวกำหนดเขตแบ่งพื้นที่ โดย พื้นที่นอกเขตถนนวงแหวนฯ และบนถนนวงแหวนรอบนอกฯ และทางพิเศษ ให้รถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป วิ่งได้ช่วงเวลา 21.00 น.- 06.00 น. (รวม 9 ชม. ) ส่วนถนนภายในเขตพื้นที่วงแหวนรอบนอกฯ ให้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งได้ช่วงเวลา 00.00 น. -04.00 น. ( รวม 4 ชม.)

จากเดิมที่อนุญาตให้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ในเวลา 10.00 น.-15.00 น. และช่วง 21.00 น. – 06.00 น. ส่วนพื้นที่ภายในวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครอนุญาตให้วิ่งได้ในเวลา 21.00 น. – 06.00 น. น. และในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการอนุญาตให้วิ่งได้ในเวลา 10.00 น. – 16.00 น. และช่วง 20.00 น. – 06.00 น. นนทบุรี /ปทุมธานี 09.00 น.-16.00 น. และช่วง 19.00 น.-06.00 น.

สำหรับ รถที่จะได้รับการยกเว้น ได้แก่ รถผสมปูนในการก่อสร้าง รถบรรทุกเชื้อเพลิง รถบรรทุกสินค้าเน่าเสียง่าย เป็นต้น ได้ให้ไปหาแนวทาง ในการปรับขนาดรถบรรทุกขนาดใหญ่ 10 ล้อ เป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก 6 ล้อ เพื่อให้สามารถวิ่งทดแทน ซึ่งได้มอบหมายให้ กรมขนส่งฯ ,สนข. ไปศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบถึงผลดีและผลเสียในการลดภาระต้นทุนรวมถึงแนวทางในการเยียวยาผู้ประกอบการที่ต้องเปลี่ยนขนาดรถให้เล็กลง

ซึ่งปัจจุบันมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ ในพื้นที่กทม. ประมาณ 50,000 คัน/วัน หากดำเนินการได้ รถบรรทุกขนาดใหญ่จะหายไปทันที และจะทำให้การจราจรในกทม.และปริมณฑล มีความคล่องตัวมากขึ้น และทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้

“การแก้ปัญหาจราจรในกทม. จะต้องกล้าทำ กล้าตัดสินใจ และเป็นแนวทางที่เมืองใหญ่ๆ ในโลก ดำเนินการกันอยู่ ซึ่งให้ไปดูว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างไรหรือมีต้นทุนเพิ่มตรงไหน เพื่อหาทางเยียวยา ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่เชื่อว่า หากบริหารจัดการดีๆ จะไม่มีผลกระทบ เพราะการกำหนดเวลาวิ่งในเขตเมือง เที่ยงคืน – ตี 4 ชัดเจน อยู่ที่บริหารจัดการให้สอดคล้องกับเวลาที่กำหนด อดีตให้เวลารถขนาดใหญ่วิ่งในเมืองค่อนข้างมาก ทำให้รถติดมาก”นายศักดิ์สยามกล่าว

***มอบขบ.-ตำรวจ ถกประเด็นกม.ความเร็วเลนขวา 120 กม./ชม.

ส่วนการกำหนดอัตราความเร็วบนถนนสายหลักไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น ที่ประชุมฯมีมติ ให้มีการปรับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจราจรทางบก คือ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งทั้ง 2 ฉบับ ได้กำหนดอัตราความเร็วสูงสุดในการขับขี่แตกต่างกัน ให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันก่อน

เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบถนนมีทั้งหมด 15 ประเภท โดยกำหนดความเร็วสูงสุดในการขับขี่รถตามประเภทของถนน ไม่ใช่มิติของพื้นที่ เช่น ถนนขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไปที่มีการแบ่งทิศทางจราจรแยกออกจากกัน โดยมีเกาะกลางหรือกำแพงกั้นที่สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และถนนที่มีช่องจราจร 4 ช่องจราจรหรือน้อยกว่า ที่มีการแบ่งทิศทางแยกออกจากกันด้วยเส้นสีหรือเกาะสีที่สามารถใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น

เบื้องต้นในระหว่างการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กระทรวงฯ สามารถออกกฎกระทรวงฯ เพื่อใช้สำหรับเส้นทางที่มีความพร้อมหรือเส้นทางสายหลักที่สามารถใช้ความเร็วรถได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย

ดังนั้นการดำเนินการ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและยึดหลักการจัดระเบียบความเร็วของแต่ละช่องจราจร รวมถึงถนนในชุมชนต้องลดความเร็ว โดยได้มอบให้ ทล. และ ทช. ไปศึกษาเพิ่มเติมต่อไป รวมทั้งปรับปรุงป้ายบอกความเร็วให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มองเห็นได้ชัดเจนหรือพิจารณาใช้ป้ายแบบ VMS (Variable Message Sigh) และพิจารณาวางแท่งแบริเออร์แทนเกาะกลาง เพื่อให้รถสามารถใช้ความเร็วได้ เนื่องจากมีพื้นที่ผิวจราจรเพิ่มขึ้น โดยใช้แบร์ริเออร์ที่มีส่วนผสมจากยางพาราตามนโยบายกระทรวงฯ และในอนาคตให้พิจารณาออกแบบถนนโดยใช้แท่งแบริเออร์แทนเกาะกลางตามความเหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น