ไทยใช้เวทีประชุม TIFA ขอสหรัฐฯ เร่งกระบวนการตรวจสอบสุขอนามัย “ส้มโอ” หวังให้ไทยสามารถส่งออกได้ และขอยกเว้นการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม พร้อมแจงไทยมีความคืบหน้าการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ ด้านสหรัฐฯ ติดตามความคืบหน้าการคุ้มครองแรงงาน การอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกร
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ หรือ TIFA JC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2562 ว่าไทยได้ใช้โอกาสนี้ขอให้สหรัฐฯ เร่งกระบวนการตรวจสอบสุขอนามัยสินค้าส้มโอไทย เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ ซึ่งสหรัฐฯ แจ้งว่าการตรวจสอบส้มโอยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และยังได้สอบถามถึงกลไกการดำเนินงานเพื่อขอยกเว้นการขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมภายใต้มาตรา 232 โดยสหรัฐฯ ชี้แจงว่าการตัดสินใจยกเว้นประเทศใดจากการขึ้นภาษีขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ไทยยังได้แจ้งให้สหรัฐฯ ทราบถึงพัฒนาการของนโยบายเศรษฐกิจของไทยที่ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยที่ผ่านมาได้มีการปฏิรูปและออกกฎหมายใหม่ๆ ที่สำคัญหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ.ศุลกากร กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้ไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจดีขึ้นจากหลายสถาบัน ซึ่งสหรัฐฯ ยินดีต่อพัฒนาการดังกล่าวของไทย
ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการค้า การค้าในยุคดิจิทัล การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองแรงงาน และแนวทางพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
“สหรัฐฯ ได้หารือความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปการคุ้มครองแรงงานไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และการพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้สาร Ractopamine (สารเร่งเนื้อแดงในสุกร) ต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้งสองเรื่องยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสหรัฐฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำงานร่วมกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นประเด็นที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ และสมาคมผู้ผลิตสุกรสหรัฐฯ ได้ยื่นขอให้สหรัฐฯ ทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย” นางอรมนกล่าว
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้แจ้งว่าให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิก โดยเห็นว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ สอดคล้องกับหลักการในเอกสารมุมมองอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indonesia-Pacific) ที่ผู้นำอาเซียนได้ให้การรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา และต้องการร่วมมือกับอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิก โดยพร้อมจะร่วมมือกับไทยในฐานะประธานอาเซียนขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมต่อไป
การประชุม TIFA จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยฝ่ายไทยกับสหรัฐฯ สลับกันเป็นเจ้าภาพ ในปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพ มีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าผู้แทนฝ่ายไทย และมีนายคาร์ล เอทเลอร์ ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เป็นหัวหน้าผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ และมีผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ของไทย เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม